หมอปิยะสกล” ชี้ “หลักเกณฑ์บริหารงบบัตรทอง ปี 61”  ความร่วมมือร่วมใจทุกภาคส่วน ส่งผลเข้าใจกันมากขึ้น

“หมอปิยะสกล” ชี้ “หลักเกณฑ์บริหารงบบัตรทอง ปี 61”  ความร่วมมือร่วมใจทุกภาคส่วน ส่งผลเข้าใจกันมากขึ้น

หมอปิยะสกล” ชี้ “หลักเกณฑ์บริหารงบบัตรทอง ปี 61”  ความร่วมมือร่วมใจทุกภาคส่วน ส่งผลเข้าใจกันมากขึ้น

“หมอปิยะสกล” ชี้ “หลักเกณฑ์บริหารงบบัตรทอง ปี 61” เกิดจากความร่วมมือร่วมใจทุกภาคส่วน ส่งผลเกิดความเข้าใจมากขึ้น มุ่งดำเนินงานสู่เป้าหมายเดียวกัน “ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน” พร้อมย้ำหากมีเสียงกระซิบปัญหาต้องเร่งพูดคุย

โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ – ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561 พร้อมปาฎกถาพิเศษ จัดโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีผู้แทนจากหน่วยบริการที่ร่วมบริการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจากสังกัดต่างๆ เข้าร่วม อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยบริการเอกชนเข้าร่วม เพื่อทำความเข้าใจการจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินับเป็นนโยบายสำคัญที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะมีกระแสอย่างไร รัฐบาลยังคงให้การสนับสนุนอย่างชัดเจน โดยกระทรวงสาธารณสุข สปสช. และทุกภาคส่วนประชารัฐต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ “ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน” เห็นได้ว่าเป็นประโยคที่พูดได้ไม่ยากแต่เข้าใจยาก ทำอย่างไรทำให้ผู้ให้งบประมาณเข้าใจและเห็นความสำคัญ ไม่ว่าอย่างไรเราคงไม่หยุดดำเนินการ เมื่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดำเนินมาถึงจุดนี้ นอกจากความสำเร็จแล้ว ยังมองเห็นอุปสรรคและความร่วมมือที่ต้องช่วยกันแก้ปัญหาติดขัด โดยไม่แบ่งฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้จ่ายเงิน ผู้ให้บริการและที่สำคัญคือภาคประชาชน ภาคประชาสังคมที่ต้องร่วมกัน เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติล้วนเป็นของประชาชน ซึ่งต้องทำเพื่อประโยชน์ประชาชนโดยแท้
สำหรับในปีงบประมาณ 2561 นี้ ในการบริหารกองทุนและการจัดสรรงบประมาณ ทั้งผู้จ่ายเงินและผู้ให้บริการได้มีการพูดคุยกันมากกว่าที่ผ่านมา ผ่านคณะกรรมการกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ระดับประเทศ (คกก.7X7) และกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสังกัด สป.สธ.ระดับเขต (คกก. 5X5) ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น เอื้ออาทรกันมากขึ้น เป็นการดำเนินระบบจากความร่วมมือร่วมใจที่ได้มีการพูดคุยกันก่อน และเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินการ
ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กองทุนการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพึงระยะยาว (LTC) เป็นโครงการที่ทำมาตั้งแต่ในปี 2559 ซึ่งรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 600 ล้านบาทในปี 2559 เป็น 900 ล้านบาทในปี 2560 และเพิ่มเป็น 1,200 ล้านบาทในปี 2561 นี้ เพราะมองเห็นประโยชน์เพื่อดูแลผู้สูงอายุในอนาคต แต่ผลประเมินโครงการที่ผ่านมาปรากฎว่างบที่จ่ายผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กลับติดปัญหาเบิกจ่ายไม่หมด หากปล่อยไว้แบบนี้ปี 2561 ย่อมเกิดปัญหาแน่ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. ได้ร่วมกันลงพื้นที่ อปท.เพื่อดูปัญหาติดขัด รวมทั้งดูดำเนินงาน อปท.ที่ประสบผลสำเร็จเพื่อนำมาสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน
“อปท.ที่ดำเนินโครงการ LTC สำเร็จ แม้ว่าจะติดขัดระเบียบ อปท.ไม่สามารถโอนเงินไปยังศูนย์การดูแลผู้สูงอายุท้องถิ่นได้จากที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วง จึงใช้ช่องทางดำเนินการผ่านโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กระทรวงสาธารณสุขแทนในรูปแบบเหมาจ่าย ทำให้ อปท.เดินหน้าโครงการต่อไปได้ นำมาสู่การจัดการระดับประเทศ อาทิ การทำคู่มือดำเนินโครงการ LTC ส่งผลให้การดำเนินโครงการ LTC ปี 2561 นี้มีความราบลื่นได้ เป็นผลจากการลงไปดูปัญหา พูดคุยร่วมกัน และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ส่วนการดำเนินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหลักการปีนี้ยังมุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงการคุ้มครองสิทธิประชาชนในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ขอย้ำอีกครั้งว่างบประมาณที่เป็นเงินของประชาชนทุกบาททุกสตางค์ที่ให้มาบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องเกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีประชาชนสุขภาพดีเป็นเป้าหมาย เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้จ่ายเงิน ผู้ให้บริการต้องมีความสุข มีความเข้าใจ เหล่านี้ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพยั่งยืน ซึ่งต้องฝากความหวังไว้กับพวกเราทุกคน
“การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2561การดำเนินการต่างๆ ได้ผ่านการกลั่นกรองจากทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ ซึ่งต่อจากนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเพื่อให้การบริหารกองทุนเกิดประโยชน์สูงสุด สิ่งใดไม่เข้าใจต้องมาพูดคุยกัน และต้องมีการประเมินผลเป็นระยะ ปรับเปลี่ยนได้ทุกช่วงเวลา ไม่รอให้เกิดปัญหาใหญ่ก่อน เมื่อมีเสียงกระซิบเข้ามาต้องมาพูดคุยกัน ไม่ต้องรอให้กรีดร้องก่อน วันนี้ระบบสุขภาพของประเทศแม้ว่าไทยจะเป็นประเทศรายได้ปานกลาง แต่เราจะทำให้ประเทศรายได้มากๆ มาเรียนรู้ระบบสุขภาพจากไทย เหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจทุกภาคส่วน” ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าว
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ภาพปรากฎการณ์ในวันนี้เกิดจากการมีส่วนร่วมภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่ระดับบอร์ด สปสช. คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ผู้ให้บริการจากทุกส่วน ผู้รับบริการและภาคประชาชน ส่งเสริมด้วยระบบต่างๆ ที่เข้ามาช่วยสนับสนุน ทั้งจากกลุ่มโรงเรียนแพทย์ การจัดระบบเชื่อมโยงบริการสุขภาพแบบไร้รอยต่อ ทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มี 3 ประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินต่อจากนี้ คือ 1.ประชาชนมีสุขภาพดี เป็นเป้าหมายตรงกันของทุกภาคส่วน 2.การบริหารงบประมาณจำกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ 3.การจัดการ โดยมีพันธมิตรที่มีจุดยืนร่วมกันเป็นกลไกสำคัญ เพื่อทำให้เกิดการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายและทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายั่งยืน

 

[contact-form][contact-field label=”ชื่อ” type=”name” required=”true” /][contact-field label=”อีเมล์” type=”email” required=”true” /][contact-field label=”เว็บไซท์” type=”url” /][contact-field label=”ข้อความ” type=”textarea” /][/contact-form]



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น