สธ ขอนแก่น เตือน เฝ้าระวังป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น
เตือน ประชาชนชาวจังหวัดขอนแก่นเฝ้าระวังป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง

สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น แจ้งเตือนพี่น้องประชาชนชนชาวจังหวัดขอนแก่น ให้ดูแลสุขภาพอนามัย ของตนเองและคนรอบข้างให้แข็งแรงอยู่เสมอ เฝ้าระวังโรคหลอดเลือดสมองที่อาจเกิดขึ้นโดยเฉียบพลัน โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วนและผู้ป่วยเรื้อรัง
นายแพทย์พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เป็นโรคทางระบบประสาท ที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง โดยมีสาเหตุมาจากการ แตก ตีบ หรืออุดตัน ของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง เป็นผลให้สมองทำงานผิดปกติ จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการและอาการแสดงตามความรุนแรงของโรค ได้แก่ มีอาการปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ได้ พูดไม่ชัด ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 15 และมีโอกาสเกิดความพิการถาวรได้ถึงร้อยละ 60 ปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยด้วยยาละลายลิ่มเลือดทาง หลอดเลือดดำ เป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐานและให้ผลลัพธ์การรักษาที่ดี ภายในเวลา 4.5 ชั่วโมง หลังเริ่มมีอาการ ในระบบบริการ Stroke Fast Track ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายเป็นปกติ ได้ถึงร้อยละ 80 สำหรับจังหวัดขอนแก่น ในปี 2561 มีผู้ป่วย Stroke จำนวน 4,656 ราย มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2560 เล็กน้อย การรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วย การดูแลต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการฟื้นฟูสภาพให้เร็วที่สุดในระยะเวลา 6 เดือน เพื่อลดการดูแลระยะยาว (Long term care) และ การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ทั้งนี้จังหวัดขอนแก่นได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพเครือข่ายบริการสุขภาพระดับจังหวัด (Provincial Healthcare Network) โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) จังหวัดขอนแก่น ประจำปี ๒๕๖๑ เพื่อลดอัตราป่วย ลดอัตราตาย ลดระยะเวลารอคอย ลดความแออัด รวมทั้งพัฒนาระบบส่งต่อให้มีประสิทธิภาพ มีระบบการประสานงานที่รวดเร็วคล่องตัว มีความต่อเนื่องในการดำเนินงานและบรรลุผลตามเป้าหมาย ในที่สุด
นายแพทย์พีระ กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ต้องใช้ทีมสหสาขาวิชาชีพในการดูแล และฟื้นฟูสภาพ รวมทั้งญาติและผู้ดูแลที่ต้องดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องในระยะยาว การพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยจึงมีความสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลได้ทันเวลาภายใน 4ชั่วโมงครึ่ง ตามกำหนด สามารถลดความรุนแรงของโรค ส่งผลให้ผู้ป่วยลดความพิการ ลดการเสียชีวิต และทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นถึงร้อยละ ๘๐ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการดูแลสุขภาพ ด้วยหลัก 5 อ.ลดภาวะเสี่ยงของโรคดังนี้ รับประทานอาหารที่เหมาะสมกับร่างกาย อยู่ในที่อากาศบริสุทธิ์ ปราศจากมลพิษ รักษาอารมณ์ ให้แจ่มใส ร่าเริง อุจจาระดี คือ รับประทานอาหารที่มีกากใย และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 หรือ สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร.02-590-3177-8 จึงประชาสัมพันธ์มาให้ทราบโดยทั่วกัน

 



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น