เกษตรกรมหาสารคาม ปลูกใบบัวบกอินทรีย์ สร้างรายได้

ที่กลุ่มวิสาหกิจปลูกสมุนไพรหนองหญ้าม้า ต.หนองเหล็ก อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม   นายเสถียร ยอดสิงห์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกสมุนไพรหนองหญ้าม้า ได้เล่าถึงวิธีการปลูกใบบัวบกอินทรีย์ ว่า “การปลูกใบบัวบกอินทรีย์ ที่สำคัญคือเราต้องปลูกพืชแนวกันสารพิษรอบแปลง เป็นไม้ยืนต้นหรือกล้วยก็ได้เพื่อป้องกันสารพิษปลิวมาในอากาศ โดยมีขั้นตอนคือ   เตรียมดินโดยการไถดินตาก 1 อาทิตย์ ไถพรวนยกแปลง ใส่ปุ๋ยหมัก ในอัตรา 100 กก./งาน แล้วฉีดพ่นสารอินทรีย์สังเคราะห์แสง ในอัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร   แล้ว นำไหลใบบัวบกปลูก ระยะห่างระหว่างต้น 1 คืบ  รดน้ำวันละ 1 ครั้ง และ ฉีดพิ่นน้ำหมักสูตรบำรุงใบ (น้ำหมักแม่) ผสมจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง หลังปลูก 20 วัน  ส่วนการป้องกันโรค ด้วยการผสมไตรโคเดอร์มาในปุ๋ยหมัก เมื่อพบหนอนกินใบให้พ่นด้วยไส้เดือนฝอย หรือ เชื่อบีที และกำจัดวัชพืชสม่ำเสมอ และจะเก็บเกี่ยวเมื่ออายุครบ 45 วัน”

นายเสถียร ได้เล่าถึงการแปรรูปว่า “หลังเก็บเกี่ยวแล้วต้องนำมาคัดแยกและล้างน้ำปกติ 3 น้ำ และตามด้วยน้ำกรองสะอาด นำไปผึ่งลมให้แห้ง อบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และบดให้ละเอียด แล้วส่งต่อหน่วยงานรับซื้อต่อไป”

ผศ.ณัฐพัชญ์ อนันต์ธีระกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำบุคลากรสำนักบริการวิชาการ ผู้ประสานงานพื้นที่โครงการมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน 9 ตำบล ดูงานการปลูกใบบัวบกอินทรีย์ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ณ กลุ่มวิสาหกิจปลูกสมุนไพรหนองหญ้าม้า ต.หนองเหล็ก อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม เพื่อนำความรู้ไปส่งเสริมเกษตรกร เป็นการสร้างอาชีพและรายได้

ผศ. ณัฐพัชญ์ อนันต์ธีระกุล กล่าวว่า “สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีหน้าที่นำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่ชุมชน และสำนักบริการวิชาการ ร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกใบบัวบกแบบอินทรีย์ แปรรูปเป็นใบบัวบกผง ส่งต่อให้กับคณะเภสัชศาสตร์ ในราคากิโลละ 700 บาท โดยรับซื้อไม่จำกัดจำนวน ซึ่งคณะเภสัชศาสตร์จะได้นำไปผลิตเป็นเวชสำอางต่อไป”

ดร.จารุพงศ์ ประสพสุข นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 3 ขอนแก่น ได้ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า “การปลูกพืชอินทรีย์เป็นระบบการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สมดุลธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ มีการจัดการระบบนิเวศที่คล้ายคลึงกับธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช กำจัดวัชพืช ฮอร์โมนสังเคราะห์ต่าง ๆ ไม่ใช้พันธุ์พืชที่ได้รับจากการตัดต่อทางพันธุกรรม เน้นการใช้อินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยชีวภาพ ในการปรับปรุงดิน ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ต้นพืชมีความแข็งแรง สามารถต้านทานโรค และแมลงได้ด้วยตนเอง กระบวนการผลิตและผลผลิตที่ได้จึงปลอดภัยต่อผู้ผลิต และผู้บริโภค ไม่ทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม”

ทั้งนี้สำนักบริการวิชาการ จะได้นำไปส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่รับผิดชอบปลูกใบบัวบกแบบอินทรีย์ให้ได้รับใบรับรองการปลูกพืชแบบอินทรีย์ แปรรูป และส่งต่อให้คณะเภสัชศาสตร์ นำไปผลิตเป็นเครื่องเวชสำอางต่อไป”



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น