นักวิจัย มข. สร้าง “อุปกรณ์เก็บกักละออง” เครื่องแรกของโลก 

นักวิจัย มข. สร้าง “อุปกรณ์เก็บกักละออง” เครื่องแรกของโลก…ลดเชื้อโรคกระจาย 99.9%

25 มิถุนายน 2564 ที่อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น      รองศาสตราจารย์ นพ. ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เปิดแถลงข่าว การถ่ายทอดเทคโนโลยีผลงานนวัตกรรม เรื่อง อุปกรณ์เก็บกักละออง ป้องกันเชื้อโรคจากการทำฟัน เป็นผลงานที่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ภาคเอกชนนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยมี ศาสตราจารย์ ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ รองศาสตราจารย์ ทพ.สมเกียรติ เหลืองไพรินทร์ อาจารย์ประจำคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทพ.สุรัตน์  ลีนะศิริมากุล นักวิจัย  ศิษย์เก่าคณะทันตแพทยศาสตร์  คุณ เซี่ยง อิง หวัง และ คุณสุวัธชัย เดชาพงศา  กรรมการ บริษัท ดับบลิว แอนด์ เอช เทค จำกัด  คณะผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์ และผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน
“อุปกรณ์เก็บกักละออง” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโรคในปัจจุบัน และก่อให้เกิดความปลอดภัยต่อทันตบุคลากร และคนไข้ รวมถึงการสร้างความมั่นใจต่อสังคม

งานวิจัย “อุปกรณ์เก็บกักละออง” ช่วยลดการกระจายเชื้อโรคจากการทำฟัน เป็นการทำงานวิจัยร่วมกันของ รองศาสตราจารย์สมเกียรติ เหลืองไพรินทร์  อาจารย์ประจำคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ทันตแพทย์ สุรัตน์ ลีนะศิริมากุล นักวิจัย  ศิษย์เก่าคณะทันตแพทยศาสตร์  เป็นงานวิจัยที่ทำขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของทันตแพทย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ยังควบคุมไม่ได้ เพราะมีโอกาสเกิดการฟุ้งกระจายของเชื้อโรคระหว่างการทำหัตถการ ทำให้การทำงานด้านทันตกรรมมีความเสี่ยง ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วย ซึ่งจุดเด่นในการใช้เป็นอุปกรณ์เก็บกักละอองนี้คือ  การป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อโรค ช่วยลดการสัมผัสละอองที่ฟุ้งกระจายในขณะปฏิบัติงานได้ถึง 99.9 เปอร์เซ็นต์ โดยทันตแพทย์จะใช้ครอบเฉพาะจมูกและปากคนไข้เท่านั้น จึงตัดปัญหาเสียงก้องหรือเสียงดังรบกวนคนไข้  ส่วนวัสดุที่ใช้ทำปลอกสวมแขนและฐานรอง ใช้วัสดุเช่นเดียวกันกับหน้ากากอนามัย (SMS Fabric) ซึ่งมีคุณสมบัติกันน้ำซึมผ่าน แต่อากาศไหลผ่านได้ดี โดยทางนักวิจัยได้มีการทดสอบการไหลของอากาศภายในเครื่องพบว่ามีอากาศใหม่ที่ไหลเวียนเข้าไปภายในกล่อง ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 9 ลิตรต่อวินาที และจากการตรวจสอบภายในอุปกรณ์ ไม่พบแรงต้านการหายใจแต่อย่างใด สร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยจะสามารถหายใจได้โดยสะดวก และไม่รู้สึกเหนื่อยแต่อย่างใด แม้จะนอนทำฟันเป็นเวลานาน

จากนั้น ได้มีพิธีลงนามสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยี  โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นในฐานะผู้ทรงสิทธิ อนุญาตให้ บริษัท ดับบลิว แอนด์ เอช เทค จำกัด เป็นผู้รับอนุญาติให้ใช้สิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งสามารถนำ “อุปกรณ์เก็บกักละออง” ไปทำการผลิตและจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ของผู้รับอนุญาตได้ทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ   ผู้ลงนามในสัญญาถ่ายทอดเทคโนโลยีประกอบด้วย  รองศาสตราจารย์ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ คุณ เซี่ยง อิง หวัง กรรมการ บริษัท ดับบลิว แอนด์ เอช เทค จำกัด

 

 



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น