ขอนแก่น สร้างฝายชะลอน้ำ “รักษ์ภูผา มหานที”ณ พื้นที่ป่าต้นน้ำ อุทยานแห่งชาติน้ำพอง

ขอนแก่น สร้างฝายชะลอน้ำ “รักษ์ภูผา มหานที”ณ พื้นที่ป่าต้นน้ำ อุทยานแห่งชาติน้ำพอง

วันที่ 7 พ.ค.2568 นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดกิจกรรมการสร้างฝายชะลอน้ำแบบผสมผสานหรือฝายแม้ว ในโครงการ “รักษ์ภูผา มหานที” ทำให้ผืนป่าชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์ ตามแนวพระราชดำริ เพื่อมุ่งสู่ Net Zero โดยดำเนินการสร้างฝายในพื้นที่อำเภอน้ำพอง พร้อมร่วมสร้างฝายชะลอน้ำและปลูกต้นไม้ โดยอำเภอน้ำพองร่วมกับบริษัทฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) ใน SCGP ดำเนินการสร้างฝายชะลอน้ำมาแล้ว 4 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ป่าธรรมชาติบ้านนาขาม ตำบลพังทุย อำเภอน้ำพอง ในปี 2560 พื้นที่ป่าธรรมชาติถ้ำเสือ บ้านสระกุด ตำบลม่วงหวาน อำเภอน้ำพอง ในปี 2561 พื้นที่ป่าชุมชนหลุบป่าเอี้ยง บ้านม่วงหวาน ตำม่วงหวาน อำเภอน้ำพอง ในปี 2566 และ พื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำพอง ในปี 2567 ในปี 2568 นี้ บริษัทฯ ได้ร่วมกับ ชุมชนตำบลโคกสูง อำเภออุบลรัตน์ และอุทยานแห่งชาติน้ำพอง มีแผนในการสร้างฝายชะลอน้ำ จำนวน 100 ฝาย บนพื้นที่ป่าต้นน้ำ อุทยานแห่งชาติน้ำพอง ในเขตตำบลโคกสูง อำเภออุบลรัตน์ แห่งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชะลอการไหลของน้ำ นำความชุ่มชื้นกลับคืนสู่ผืนป่า นำความสมดุลกลับคืนสู่ธรรมชาติ และป้องกันไฟป่าในฤดูแล้ง ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการดูแลพื้นที่ป่าต้นน้ำของชุมชน

การสร้างฝายชะลอน้ำในครั้งนี้ เป็นฝายชะลอน้ำกึ่งถาวรใช้วัสดุในท้องถิ่น เช่น ไม้ไผ่ ก้อนหิน ไม่ทำลายต้นไม้ในพื้นที่ โดยจัดแบ่งกลุ่มในการสร้างฝายเป็น 15 กลุ่ม ตามจำนวนหมู่บ้านในตำบลโคกสูง 13 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 7 – 8 ฝาย และ อีก 2 หมู่บ้านจากตำบลทุ่งโป่ง หมู่บ้านละ 3 ฝาย และให้แต่ละหมู่บ้านเป็นผู้จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ในการสร้างฝาย พร้อมกันนี้ยังมีกิจกรรมร่วมปลูกพันธุ์ไม้ป่าในพื้นที่อีกจำนวน 100 ต้น เพื่อเสริมพื้นที่ป่า โดยใช้พันธุ์ไม้ที่บริษัทฯ เพาะกล้าจากเมล็ดพันธุ์ที่สำนักงานจังหวัดขอนแก่นมอบให้จำนวนกว่า 140,000 เมล็ด โดยปัจจุบันสามารถส่งมอบกล้าไม้คืนเพื่อปลูกในพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดขอนแก่นแล้วกว่า 20,000 กล้า


ปัจจุบัน การดูแลรักษาสภาพสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญ ที่ทุกประเทศและทุกฝ่ายต้องร่วมมือและช่วยดำเนินการให้สำเร็จร่วมกัน โดย SCGP เชื่อว่าการดำเนินกิจการตามแนวทางพัฒนาที่ยั่งยืน อันประกอบด้วยความสมดุลใน 3 ด้านได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จะช่วยทำให้สภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ปัจจุบัน SCGP จึงมีนโยบายในการดำเนินธุรกิจ ตามแนวทาง ESG 4Plus อันได้แก่ มุ่งสู่ Net Zero, Go Green, Lean เหลื่อมล้ำ และย้ำความร่วมมือ โดยยึดหลักธรรมาภิบาลโปร่งใส ตอนนี้มีฝายชะลอน้ำในพื้นที่รวมแล้วมากกว่า 350 ฝาย



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น