”รองนายกฯ ประเสริฐ“ ลงพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานกลาง สั่งเข้มรับมือวิกฤตน้ำทั้งท่วม-แล้ง ก่อนฤดูฝนทิ้งช่วง

”รองนายกฯ ประเสริฐ“ ลงพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานกลาง สั่งเข้มรับมือวิกฤตน้ำทั้งท่วม-แล้ง ก่อนฤดูฝนทิ้งช่วง

17 พ.ค. 68. ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นำคณะลงพื้นที่ 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ได้แก่ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและเตรียมมาตรการเชิงรุกรับมือภัยน้ำในทุกมิติ โดยมีนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด กาฬสินธุ์, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมและรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล หลังจากนั้นลงพื้นที่ อ.โกสุมพิสัย และ อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงทั้งน้ำหลากและขาดแคลนน้ำในฤดูฝนนี้

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า แม้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แต่หลายพื้นที่โดยเฉพาะนอกเขตชลประทาน ยังมีแนวโน้มเผชิญฝนทิ้งช่วงช่วงปลายมิถุนายนถึงต้นกรกฎาคม ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะ จ.ขอนแก่น ที่คาดว่าในเดือนกันยายน จะมีพื้นที่เสี่ยงสูงสุดถึง 24 อำเภอ 142 ตำบล จึงสั่งการเร่งด่วนให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณาการแผนป้องกันและจัดการล่วงหน้า ร่วมกับกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเน้นการแจ้งเตือนล่วงหน้า ซ่อมแซมและปรับปรุงแหล่งน้ำ ระบบประปาหมู่บ้าน และบ่อบาดาลให้พร้อมใช้งาน รองรับทั้งการบริโภค การเกษตร และภาคเศรษฐกิจท้องถิ่น

ด้าน สทนช. เผยข้อมูลล่าสุดว่า ขณะนี้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และกลางใน 4 จังหวัดมีปริมาณน้ำรวมเพียง 32% ของความจุ ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยช่วงเดียวกันของปีก่อนอย่างน่ากังวล ขณะเดียวกันยังมีการคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ช่วงสิงหาคมถึงตุลาคม อาจเกิดพายุหมุนเขตร้อน 1–2 ลูก ส่งผลโดยตรงต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สทนช. จึงได้เตรียมแผนรับมือร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่อย่างเข้มข้น ทั้งป้องกันอุทกภัยและวางแผนเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า พร้อมขับเคลื่อนการเชื่อมโยงข้อมูลและสื่อสารเตือนภัยให้ประชาชนสามารถปรับตัวและรับมือได้ทันสถานการณ์ เพื่อให้การจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและยั่งยืนในระยะยาว



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น