โครงการ ”จินตนาการเสรี สื่อละครสร้างสรรค์เพื่อเด็กพิการทางการเห็น” ละครเวทีแบบ 5 มิติ ประสบการณ์ใหม่เพื่อการพัฒนาการเคลื่อนไหวอย่างยั่งยืน

โครงการ ”จินตนาการเสรี สื่อละครสร้างสรรค์เพื่อเด็กพิการทางการเห็น” ละครเวทีแบบ 5 มิติ ประสบการณ์ใหม่เพื่อการพัฒนาการเคลื่อนไหวอย่างยั่งยืน


เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา นางสาวเพชรรัตน์ มณีนุษย์ หัวหน้าโครงการ ”จินตนาการเสรี สื่อละครสร้างสรรค์เพื่อเด็กพิการทางการเห็น” และคณะ ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดกิจกรรมละครเวทีเพื่อการศึกษาสำหรับเด็กพิการทางการเห็น ณ หอประชุมโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยได้รับการต้อนรับจากนางมาลิณี วรปรีชาชนม์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตลอดจน คณะครู บุคลากร และนักเรียน ทั้งนี้ได้รับเกียรติจากนางสาวชลลดา ชนะศรีรัตนกุล พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานในพิธีเปิด ในโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อจัดการแสดงละครเวทีสำหรับเด็กพิการทางการเห็น ในการใช้รูปแบบละครเวทีในการเพิ่มศักยภาพการเคลื่อนไหว และกระตุ้นประสาทสัมผัส ของเด็กพิการทางการเห็นผ่านการมีส่วนร่วมในการแสดงและมีเป้าประสงค์สำคัญในการผลิตสื่อ เพื่อเป็นสื่อต้นแบบของละครสำหรับคนพิการทางการเห็น อันจะเป็นประโยชน์แก่สถานศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนของประเทศ นักเรียนพิการทางการเห็น ได้รับความสนุกสนานและเพิ่มประสบการณ์ในการเสริมสร้างจินตนาการผ่านสื่อที่เข้าถึงได้อย่างสร้างสรรค์


เนื่องจากในปัจจุบัน เด็กพิการทางสายตาไม่มีทางเลือกในการรับสื่อสร้างสรรค์ที่หลากหลายมากนัก ผู้จัดทำต้องการเพิ่มพื้นที่ทางสื่อสร้างสรรค์ให้กับเด็กพิการทางสายตาด้วยการเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะการแสดงละครเวทีที่เด็กพิการทางสายตาสามารถมีส่วนร่วมได้จากทักษะการรับรู้ที่มีอยู่อย่างจำกัด เช่น การรับชมละครด้วยการฟังเสียง การได้กลิ่น การสัมผัส การชิมรสชาติ เป็นต้น นอกจากเทคนิคการรับรู้และรับชมด้วยประสาทสัมผัสต่างๆแทนการรับรู้ทางกายภาพแล้ว ยังมีการออกแบบการสร้างประสบการณ์ร่วมทางด้านละครเวทีที่เหมาะสมกับเด็กพิการทางสายตา โดยออกแบบให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับการแสดงในรูปแบบละคร Immersive Theatre ซึ่งผู้ชมเป็นส่วนสำคัญหลักในการดำเนินเรื่องที่เป็นการแสดงสด โดยหนังสือเสียง ละครวิทยุ ละครโทรทัศน์ ไม่สามารถสร้างประสบการณ์การรับชมสื่อสร้างสรรค์ทางศิลปะการแสดงแบบนี้ได้
ผู้จัดทำต้องการให้เด็กพิการทางสายตาสามารถรับชมการแสดงนี้ ไม่เพียงเพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่เล็งเห็นว่า เด็กพิการทางสายตามีโอกาสในการเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายน้อยมาก เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านสายตาที่เป็น
อุปสรรคในการเรียนรู้การเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระได้เหมือนเด็กปกติ เฉกเช่น ในวิชาพละศึกษา โรงเรียนสอนคนตาบอด ที่มีกิจกรรมการเรียนการสอนในการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างน้อย รวมทั้งการขาดแคลนเครื่องมือหรือสิ่งอำนวยความสะดวกให้เด็กพิการทางสายตาได้มีโอกาสเคลื่อนไหวได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย เนื่องจากไม่รู้ว่าจะต้องเคลื่อนไหวหรือต้องเล่นอย่างเป็นอิสระอย่างไร


ดังนั้นผู้จัดทำต้องการสร้างพื้นที่ทางการแสดงให้เด็กพิการทางสายตาได้เคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระและปลอดภัย เฉกเช่นเดียวกับการวิ่งเล่นในสนามเด็กเล่น ที่สามารถปีนป่าย วิ่งเล่น กระโดด เคลื่อนไหวได้เต็มที่เหมือนเด็กทั่วไป ซึ่งเด็กพิการทางสายตาไม่สามารถทำได้ในสนามเด็กเล่นปกติ เพราะไม่เห็นวิธีการเล่นและรู้สึกไม่ปลอดภัยมากพอ ดังนั้นพื้นที่ในละครเรื่องนี้จึงออกแบบให้เปรียบเสมือนสนามเด็กเล่น ที่เด็กพิการทางสายตาสามารถจินตนาการไปกับการสมมุติบทบาทเป็นตัวละครต่างๆ การเล่นอุปกรณ์ประกอบฉากที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อกระตุ้นการเคลื่อนไหวของเด็กพิการทางสายตา รวมทั้งรู้สึกสนุกไปกับการฝึกใช้กล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหวในรูปแบบใหม่ๆ ในฉากการผจญภัยต่างๆจากการมีส่วนร่วมในการแสดงละครเรื่องนี้

โครงการนี้เป็นการออกแบบและพัฒนาโดยใช้กระบวนการเชิงสร้างสรรค์ โดยมีพื้นที่ดำเนินโครงการ 5 โรงเรียน คือ 1) โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 2) โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี 3) โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ กรุงเทพมหานครเมื่อดำเนินการแสดงแล้ว ผู้จัดทำโครงการต้องการต่อยอดและพัฒนารูปแบบละครเพื่อนำมาสร้างเป็น วิดีโอคู่มือสื่อการเรียนการสอนที่สามารถใช้ไนกิจกรรมวิชาพละศึกษาและการฝึกการเคลื่อนไหวได้ โดยสรุปเป็นบทละคร กิจกรรมในการฝึกการเคลื่อนไหว รวมทั้งเสียงบรรยายและเสียงประกอบการแสดง ที่ครูผู้สอน ผู้ดูแลและผู้ปกครอง สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง. โดยจะมีการเผยแพร่เป็นวิดีโอสื่อการเรียนการสอนสำหรับเด็กพิการทางสายตาในช่องทาง Youtube
โครงการนี้ออกแบบมาเพื่อทดลองใช้กับกลุ่มเป้าหมาย 5 พื้นที่ (พื้นที่ละ 60 คน) โดยมีการติดตามและประเมินผลทำ Pre-Test / Post Test ก่อนและหลังเข้าร่วมกิจกรรม จะมีการประเมินพัฒนาการการเคลื่อนไหวของเด็กพิการทางสายตาเพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนในการเข้าร่วมกิจกรรม โดยมีตัวชี้วัดที่มาตรฐาน (Indicator) คือหลักการทดสอบสมรรถภาพกล้ามเนื้อ (Fitness Test) (Rikli and Jones. 2013: 1-2) โดยการทดสอบสมรรถภาพกล้ามเนื้อแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1. ความยืดหยุ่น (Flexibility) 2. ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Muscular Strength) 3. ความทนทานของกล้ามเนื้อ (Muscular Endurance) 4. การทรงตัว (Balance) โดยหลักการดังกล่าว คือการวัดผลเชิงปริมาณเพื่อประเมินความสามารถการยืดหยุ่นกล้ามเนื้อของเด็กพิการทางสายตาที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ได้นวัตกรรมละครเวทีที่สามารถเพิ่มสมรรถนะและขีดความสามารถการเคลื่อนไหวของเด็กพิการทางสายตาจากต่ำกว่ามาตราฐานเป็นขีดความสามารถระดับมาตราฐาน .



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น