สุดคักคัก ชาวบ้านจับปลาหลังเขื่อนอุบลรัตน์ ปิดสปริงเวย์
ชาวบ้าน เฮโล ร่วมจับปลาบริเวณหน้าสปริงเวย์หรือประตูระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ หลังทางเขื่อนได้ปิดประตูระบายเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าว ประจำจังหวัดขอนแก่น รายงานว่า ประชาชนชาวอำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และอำเภอใกล้เคียง ที่ทราบข่าวที่เขื่อนอุบลรัตน์จะทำการปิดประตูระบายน้ำ ต่างนำอุปกรณ์หาปลานานาชนิดไม่ว่าจะเป็นแห ฉมวก สวิง อวน สะดุ้ง และปืนยิงปลา เพื่อนำมาจับปลานานาชนิด หลังจากเมื่อเวลา 09.00 น.(วันที่ 21 พ.ย.) ทางเขื่อนอุบลรัตน์ได้ทำการปิดประตูระบายน้ำ
โดยชาวบ้าน จำนวนมากต่างนำอุปกรณ์หาปลาที่เตรียมไว้ลงจับปลาหลังที่เขื่อนปิดประตูน้ำ สำหรับปลาที่มีขนาดใหญ่ที่ประชาชนจับได้จะเป็นปลากดคัง ปลาเทโพ ที่มีขนาดน้ำหนัก 10 กิโลกรัมขึ้นไป
นอกจากนี้ ประชาชนรายหนึ่งสามารถจับปลาบึกน้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัมได้ ขณะที่ปลาส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านจับได้จะเป็นปลาตะเพียน ปลากระสูบ ปลาชะโด ปลาสวาย ปลากดเหลือง ปลากดแก้ว ส่วนปลาที่ได้ประชาชนส่วนใหญ่จะนำไปจำหน่าย
โดยปลากดคังจะนำไปจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 200 บาท และมีร้านอาหารมาคอยรับซื้อ นอกจากนี้ยังพบว่าประชาชนที่มีจับปลาส่วนใหญ่จะได้ปลากันคนละ 10 กิโลกิรัมขึ้นไป
ทางเขื่อนอุบลรัตน์จะเปิดให้ประชาชนได้ทำการจับปลาบริเวณหน้าประตูน้ำทุกปีที่มีการปิดประตูระบายน้ำ โดยจะให้จับตั้งแต่ช่วงเช้าถึงเวลาประมาณ 18.00 น.ของวันเดียวกันนี้ จากนั้นจะไม่อนุญาตให้จับปลาเพราะเป็นเขตอนุรักษ์ปลา ซึ่งการปล่อยให้จับปลาในครั้งนี้เพื่อให้ประชาชนมีรายได้จากการมาจับปลาขาย
ขณะที่น้ำในเขื่อนขณะนี้อยู่ที่ระดับ 181.93 เมตร สูงกว่าระดับน้ำกักเก็บปกติ 93 เซนติเมตร คาดว่า 3-4 วัน ระดับน้ำเข้าสู่ภาวะปกติ เมื่อผ่านพ้นช่วงฤดูน้ำหลากเขื่อนอุบลรัตน์จึงต้องปิดการระบายน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในด้านชลประทาน สำหรับเพาะปลูกพืชฤดูแล้งของพื้นที่เกษตรด้านเหนือเขื่อน 123,000 ไร่ และท้ายเขื่อนประมาณ 406,000 ไร่
ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ในเขตชลประทานและพื้นที่เพาะปลูกสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าในจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม และจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยสูบน้ำจากแม่น้ำชีซึ่งอาศัยการเติมน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่ทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนต่อไป.