วันนี้ 4 ก.ค.60 พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้

พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ประกาศใช้แล้ว มีผลบังคับใช้ 4 ก.ค.2560 นี้ เพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ป้องกันเยาวชนจากบุหรี่ ห้ามผู้ประกอบการธุรกิจผลิตภัณฑ์ยาสูบทำกิจกรรมสร้างภาพลักษณ์องค์กร  และ เพิ่มโทษปรับผู้ฝ่าฝืนสูบในเขตปลอดบุหรี่ 5,000 บาท เจ้าของสถานที่ที่ห้ามสูบไม่ติดป้ายเตือนมีโทษปรับไม่เกิน 3,000 บาท

พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายในวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 ซึ่ง ยาสูบเป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตของคนไทยถึงปีละกว่า 5 หมื่นคน และมีนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเยาวชนเพิ่มจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ รัฐต้องเสียงบประมาณไปกับการรักษาผู้ป่วยโรคจากบุหรี่สูงถึง 74,884 ล้านบาท รัฐบาล   โดยกระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออก พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 ก.ค.2560 นี้  เพื่อคุ้มครองสิทธิของเยาวชนและสุขภาพของประชากรส่วนใหญ่ผู้ไม่สูบบุหรี่ และที่สำคัญที่ต้องแก้กฏหมายคือ ประเทศไทยได้เข้าร่วมรัฐภาคีตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO-FCTC) จึงจำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เท่าทันกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทบุหรี่ และแนวปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาดังกล่าว

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมการบริโภคยาสูบอยู่เดิม 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ซึ่งบังคับใช้มานานกว่า 25 ปี สำหรับ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 มีมาตรการสำคัญที่ประชาชนต้องรับทราบ ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนี้ 1.กำหนดห้ามขายหรือให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี 2.ห้ามให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เป็นผู้ขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ 3.ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบใน 4 กลุ่มสถานที่ ได้แก่ วัดหรือสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา สถานพยาบาลและร้านขายยา สถานศึกษาทุกระดับ สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก 4.ห้ามโฆษณาสื่อสารการตลาดผลิตภัณฑ์ยาสูบในทุกรูปแบบ อาทิ พริตตี้ส่งเสริมการขายในงานคอนเสิร์ต 5.ห้ามผู้ประกอบการธุรกิจผลิตภัณฑ์ยาสูบทำกิจกรรม CSR อุปถัมภ์สนับสนุนบุคคลหรือองค์กร ที่เป็นการสร้างภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบ 6.ห้ามตั้งวางโชว์ผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือซองบุหรี่ ณ จุดขายปลีก ที่ทำให้ผู้บริโภคหรือประชาชนมองเห็น 7.ห้ามแบ่งซองขายบุหรี่เป็นรายมวน 8.เพิ่มโทษผู้ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่เป็นปรับไม่เกิน 5,000 บาท และ 9.กำหนดหน้าที่ให้เจ้าของสถานที่สาธารณะที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ มีหน้าที่ต้องประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือน ดูแลให้ไม่มีการฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ หากฝ่าฝืนไม่ดำเนินการ เจ้าของสถานที่มีโทษปรับไม่เกิน 3,000 บาท

นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  กล่าวว่าในช่วง 4-5 ปีมานี้      จำนวนผู้เสพติดบุหรี่เพิ่มขึ้นมาก โดยในผู้ชายพบมาสูบมากถึงร้อยละ 40 และเมื่อเทียบกับสถานการณ์โลกพบว่า ไทยมีผู้สูบคิดเป็นร้อยละ 34.4 สถานการณ์ถือว่ารุนแรง การมีกฎหมายออกมาควบคุมเช่นนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม หากมีเพียงกฎหมาย แต่ขาดผู้ปฏิบัติตาม กฎหมายจะดีเพียงใดก็ไม่สามารถได้ผลดี ทั้งนี้ การแบ่งซองขายมักเป็นจุดเริ่มต้นของนักดื่มหน้าใหม่ ดังนั้นต้องรณรงค์ให้ผู้ขายมีจิตสำนึก



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น