เขตสุขภาพที่ 7″ ร่วมกับ “รพ.ขอนแก่น “ระดมสมองพัฒนา งานด้านศัลยกรรมระบบประสาท โรคหลอดเลือดสมอง

“เขตสุขภาพที่ 7” ร่วมกับ “รพ.ขอนแก่น “ระดมสมองพัฒนา งานด้านศัลยกรรมระบบประสาท โรคหลอดเลือดสมอง

เพื่อรับทราบปัญหาที่สำคัญในการให้บริการทางด้านศัลยกรรมระบบประสาทของแต่ละพื้นที่ สำหรับในเขตสุขภาพที่ 7 ปัญหาที่สำคัญในการให้บริการทางด้านศัลยกรรมระบบประสาทในเขตพื้นที่ส่วนใหญ่พบกลุ่มโรคสำคัญคือโรคหลอดเลือดสมองแตกและโรคบาดเจ็บที่ศีรษะ หากผู้ป่วยกลุ่มนี้ ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและถูกต้อง จะส่งผลดีต่อผู้ป่วย มีส่วนช่วยลดอัตราการเจ็บป่วย ลดอัตราการพิการ ลดอัตราการเสียชีวิตและภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญได้เป็นอย่างดี
เมื่อเวลา09.00 น.วันที่ 12 มกราคม 2567 ที่ห้องประชุมมุ่งการดี ชั้น 4 โรงพยาบาลขอนแก่น นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อรับฟังปัญหาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนา งานด้านศัลยกรรมระบบประสาทของเขตสุขภาพที่ 7” โดยมี นายแพทย์อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ,รศ.นพ. รุ่งศักดิ์ ศิวานุวัฒน์ ประธานราชวิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าววัตถุประสงค์ ,นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ผู้บริหารในเขตสุขภาพที่ 7 แพทย์ และเจ้าหน้าที่พยาบาล ร่วมประชุม
นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิด การประชุมเพื่อรับฟังปัญหาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนางานด้านศัลยกรรมระบบประสาทของเขตสุขภาพที่ 7ตามที่คณะกรรมการราชวิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสมาชิกประสาทศัลยแพทย์และร่วมประชุมกับผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขในเขตพื้นที่สุขภาพที่ 7 ในจังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และขอนแก่น ระหว่างวันที่ 11-12 มกราคม 2567
เพื่อรับทราบปัญหาที่สำคัญในการให้บริการทางด้านศัลยกรรมระบบประสาทของแต่ละพื้นที่ สำหรับในเขตสุขภาพที่ 7 ปัญหาที่สำคัญในการให้บริการทางด้านศัลยกรรมระบบประสาทในเขตพื้นที่ส่วนใหญ่พบกลุ่มโรคสำคัญคือโรคหลอดเลือดสมองแตกและโรคบาดเจ็บที่ศีรษะ หากผู้ป่วยกลุ่มนี้ ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและถูกต้อง จะส่งผลดีต่อผู้ป่วย มีส่วนช่วยลดอัตราการเจ็บป่วย ลดอัตราการพิการ ลดอัตราการเสียชีวิตและภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญได้เป็นอย่างดี


นายแพทย์ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์โรคลหลอดเลือดสมองในประเทศไทยขณะนี้มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี จากข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. พบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองรายใหม่ของประเทศไทยในปี 2552 หรือ 15 ปีที่แล้ว พบจำนวน 163 คนต่อประชากร 1 แสนคนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป แต่ในปี 2566 ที่ผ่านมาพบว่าคนไทยพบเป็นโรคหลอดเลือดสมองสูงถึง 189,000 คน คิดเป็น 378 คนต่อประชากร 1 แสนคนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป หรือสูงขึ้นเป็น 2.3 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2552 ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมาก โดยเป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือดเฉียบพลัน 263 คน และโรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกในเนื้อสมอง 115 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ถ้าพูดอย่างสั้นๆ คือ ทุกๆ 3 นาทีมีคนไทยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง 1 คน ซึ่งเป็นภาวะที่คุกคามต่อสุขภาพอย่างมาก
ถึงแม้การรักษาจะมีการพัฒนาการไปอย่างมาก และได้ผลดี แต่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองก็ยังมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ ร้อยละ 8 ปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่เสียชีวิตทั้งสิ้น 12400 คน โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกในเนื้อสมองมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 35 หรือเป็น 3 คน เสียชีวิต 1 คน
การรักษาโรคหลอดเลือดสมองที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้เป็นโรคเรื้อรังชนิดไม่ติดต่อ หรือ NCD ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะอ้วน ภาวะไม่ออกกำลังกาย และการสูบบุหรี่ และถ้ามีอาการสงสัยว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ แขน ขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด นึกคำพูดไม่ออก ปวดหัวรุนแรง ตาพร่ามัวเป็นขึ้นมาแบบรวดเร็ว หรือทันทีทันใดนั้นให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านหรือที่เกิดอาการให้เร็วที่สุด แพทย์จะรีบทำการตรวจรักษาอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันในจังหวัดขอนแก่น และเขตสุขภาพที่ 7 ทุกๆ 60 กิโลเมตรจะมีโรงพยาบาลที่พร้อมให้การรักษาโรคนี้ ด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง และให้ยาละลายลิ่มเลือดกรณีเป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดเฉียบพลันและมารักษาทันภายในเวลา 270 นาที
นอกจากนี้กรณีที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดขนาดใหญ่ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด หรือมีข้อห้ามในการให้ยาละลายลิ่มเลือดก็สามารถให้การรักษาด้วยการใส่สายสวนหลอดเลือดเพื่อลากลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดออกมาได้ ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายเป็นปกติได้สูงมาก ถึงแม้การรักษาดังกล่าวจะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่คนไทยทุกคนสามารถรักษาได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ด้วยการใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องรอเอกสารการส่งตัว ท่านเจ็บป่วยที่ไหน ให้รีบไปที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลใกล้เคียงให้เร็วที่สุดด้วยรถส่วนตัว หรือใช้รถพยาบาลฉุกเฉิน 1669.



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น