มข เปิดตัว “BiTNet แพลตฟอร์ม AI เพื่อวิเคราะห์ความผิดปกติภาพถ่ายอัลตราซาวน์ในช่องท้องส่วนบนและคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งท่อน้ำดี

มข เปิดตัว “BiTNet แพลตฟอร์ม AI เพื่อวิเคราะห์ความผิดปกติภาพถ่ายอัลตราซาวน์ในช่องท้องส่วนบนและคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งท่อน้ำดี

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุมสารสิน อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
นักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีและคณะวิทยาศาสตร์ นำโดย ศ.พญ.นิตยา ฉมาดล, ศ.นพ.วัลลภ เหล่าไพบูลย์, ผศ.พญ.อรุณนิตย์ บุญรอด ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์, ผศ.ดร.ธนพงศ์ อินทระ, อ.ดร.เปรม จันทร์สว่าง สาขาวิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์, ผศ.ดร.อัญชลี เตชะเสน คณะเทคนิคการแพทย์, ผศ.นพ.อรรถพล ติตะปัญ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และคณะทำงาน ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งท่อน้ำดีและความผิดปกติของช่องท้องส่วนบน
.ศาสตราจารย์ ดร. มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา ได้เน้นย้ำถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ที่ได้ตระหนักถึงความรุนแรงของโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีทั้งในประเทศไทยและประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้การสนับสนุนสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีในการทุ่มเทเพื่อการศึกษาวิจัย พัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบทบาทการดูแลการให้บริการทางการแพทย์และการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุข และเป็นที่ประจักษ์ว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากและถือเป็นผู้นำในการดำเนินงานในเรื่องนี้


รศ.ดร.วัชรินทร์ ลอยลม รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ได้ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการส่งเสริมการบูรณาการการทำงานร่วมกันทางด้านวิชาการและนำไปสู่นวัตกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี การทำงานจะเป็นการรวบรวมคณะทำงานที่มีความเชี่ยวชาญทุกๆด้านให้มาทำงานร่วมกันเป็นทีม อันจะนำมาสู่การแก้ปัญหาของโรคในทุกมิติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ศาสตราจารย์นายแพทย์ณรงค์ ขันตีแก้ว อดีตรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ได้ริเริ่มแนวคิดที่จะพัฒนานวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์สำหรับแก้ปัญหาโรคมะเร็งท่อน้ำดี และผลักดันอย่างต่อเนื่องภายใต้การสนับสนุนทรัพยากรและงบประมาณภายใต้ทุนวิจัยท้าทายไทย โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จนนำมาซึ่งแพลตฟอร์ม “BiTNet” ที่ช่วยในการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีอย่างยั่งยืน
ศ.พญ.นิตยา ฉมาดล ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวิทยา สาขาวิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ กล่าวว่าเนื่องจากโรคมะเร็งท่อน้ำดีจะไม่มีการแสดงทางคลินิคในระยะเริ่มแรกของโรค ความท้าทายของทีม คือ จะวินิจฉัยโรคนี้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นได้อย่างไรเพื่อทำให้ผลการรักษาและอัตราการรอดชีพสูงขึ้น จากผลงานวิจัยสนับสนุนว่า การเฝ้าระวังโดยการตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวน์จะทำให้สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้ในระยะเริ่มต้นได้ 80% ทีมจึงได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และสามารถรวบรวมข้อมูลสำหรับฝึกสอน AI เกี่ยวกับภาพถ่ายอัลตราซาวน์ในระบบช่องท้องส่วนบนที่สมบูรณ์ที่สุดเป็นชุดแรกของโลก โดยหวังเปนอย่างยิ่งว่า นวัตกรรมนี้จะได้มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ท้ายที่สุดศ.พญ.นิตยา กล่าวขอบคุณและระลึกถึง ศาสตราจารย์นายแพทย์ ณรงค์ ขันตีแก้ว ซึ่งเป็นผู้รวบรวมความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญทุกศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ปัญหาและเป็นผู้จุดประกายให้มีการค้นหาวิธีการต่างๆที่สามารถปฏิบัติได้จริงเพื่อแก้ไขปัญหานี้


ผศ.ดร.อังคณา บุญยืด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน คณะวิทยาศาสตร์ได้มุ่งเน้น สนับสนุนและผลักดัน ผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ในทุกมิติ โดยการบูรณาการความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างคณะวิทยาศาสตร์และสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อร่วมมือดำเนินโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี คณะวิทยาศาสตร์ จึงให้การสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์ม “BiTNet” ด้วยการให้การสนับสนุนบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญด้านระบบปัญญาประดิษฐ์และ computer vision เพื่อร่วมพัฒนานวัตกรรมอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ภายใต้ หัวหน้าทีมพัฒนาที่นำโดย ผศ.ดร.ธนพงศ์ อินทระ หัวหน้าทีมผู้เชี่ยวชาญด้านระบบปัญญาประดิษฐ์และ Computer Vision สาขาวิชาสถิติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งผศ.ดร.ธนพงศ์ กล่าวถึงความโดดเด่นของ BiTNet ซึ่งถือเป็น AI ที่ถูกสอนให้สามารถวิเคราะห์ภาพอัลตราซาวน์ผิดปกติที่พบในช่องท้องส่วนบน ความสามารถหลักคือบ่งชี้ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีได้ โดยสามารถลดภาระงานของรังสีแพทย์ได้ถึง 35% เพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยของแพทย์ทั่วไปได้ถึง 12% และมีความแม่นยำในการวินิจฉัยผู้มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีที่ 96% นอกจากนั้นยังสามารถช่วยวินิจฉัยความผิดปกติอื่นๆในช่องท้องส่วนบนได้ถึง 20 ความผิดปกติ ดังนั้นแพลตฟอร์ม BiTNet ถือเป็น AI ตัวแรกของโลกที่สามารถวิเคราะห์ความผิดปกติในช่องท้องส่วนบนผ่านภาพถ่ายอัลตร้าซาวน์ โดยผลงานนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ คุณภาพสูงชื่อ Artificial Intelligence in Medicine และได้รับรางวัลระดับชาติและนานาชาติ ประกอบด้วย รางวัล Silver Digital Innovation จากงานประกาศรางวัลระดับนานาชาติ ASEAN Digital Awards 2024 ณ ประเทศสิงคโปร์, รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี ประจำปี 2567 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, รางวัลรองชนะเลิศ หมวด Inclusion and Community Services จากเวที Thailand ICT Award 2023 และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ ประจำปี 2564 จากสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น