คณะครูอาจารย์ร่วมเปิดชั้นเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 17 ที่สถาบันฯ วิชาชีพครูอาเซียน ที่ มข. อย่างคึกคัก

คณะครูอาจารย์ร่วมเปิดชั้นเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 17 ที่สถาบันฯ วิชาชีพครูอาเซียน ที่ มข. อย่างคึกคัก

 

สถาบันทางการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่นเห็นความสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนและร่วมมือกับจังหวัดขอนแก่น เพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงด้านการพัฒนาพลเมือง (Smart People) ซึ่งการเปิดชั้นเรียนระดับชาติครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

 

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 23 มีนาคม 2567 ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายยุทธพร พิรุณสาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “การเปิดชั้นเรียนระดับชาติ (National Open Class) ครั้งที่ 17” โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานรวมถึง รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และอดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น,ดร.ภูมิภัทร เรืองแหล่ ผู้ช่วยเลขาธิการสภาการศึกษา, ผศ.ดร อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์ คณบดีเทคโนโลยี ,ผศ.ณัฐพัชญ์ อนันต์ธีระกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ และภาคีเครือข่ายภาคการศึกษาร่วมพิธีเปิดอย่างอบอุ่น

ซึ่งภายในงานมีผู้เข้าร่วม ทั้งออนไซต์ จำนวนกว่า 500 คน และเข้าร่วมผ่านทางระบบออนไลน์ ประกอบด้วย ผู้บริหารและคณาจารย์ นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และบุคคลที่สนใจจากทุกภูมิภาคในประเทศไทย รวมจำนวนกว่า 1,000 คน

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานทุกท่าน โดยระบุว่า ในนามสถาบันทางการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่นเห็นความสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนและร่วมมือกับจังหวัดขอนแก่น เพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงด้านการพัฒนาพลเมือง (Smart People) ซึ่งการเปิดชั้นเรียนระดับชาติครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ลงลึกถึงระดับโรงเรียน ผ่านการทำงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อพัฒนาการศึกษาและวิจัยในชั้นเรียนจริง เชื่อมโยงระหว่างระบบผลิตครูและระบบครูประจำการ และสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ

“ผมเชื่อว่าการขับเคลื่อนการพัฒนาพลเมืองผ่านการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เกี่ยวกับกระบวนการในการพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อยกระดับคุณภาพชั้นเรียน ด้วยนวัตกรรม TLSOA รวมถึงการจัดงานเปิดชั้นเรียนระดับชาติ 17 ปีที่ผ่านมา จะเป็นฐานให้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาไปอย่างยั่งยืน รวมถึงเป็นฐานของความร่วมมือกับจังหวัดในการไปสู่ขอนแก่นโมเดลต่อไป และขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่ การเปิดชั้นเรียนระดับชาติ หรือ National Open Class ครั้งที่ 17”

จากนั้น รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ได้กล่าวรายงานว่า การเปิดชั้นเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 17 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 24 มีนาคม พ.ศ. 2567 ในรูปแบบไฮบริด (Hybrid) ด้วยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ, สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน, ศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สมาคมคณิตศาสตรศึกษา, มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนาทักษะการคิด,มูลนิธิพุทธรักษา และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

สำหรับคำว่า Open Class ในภาษาไทยใช้คำว่า “เปิดชั้นเรียน” เป็นกระบวนการในการพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อยกระดับคุณภาพชั้นเรียนอย่างยั่งยืน โดยแรกเริ่มได้มีการนำเอานวัตกรรม Lesson Study หรือ “การศึกษาชั้นเรียน” ซึ่งเป็นนวัตกรรมร่วมกับโครงการ APEC Lesson Study ที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัย Tsukuba ประเทศญี่ปุ่นและกลุ่มเครือข่ายเศรษฐกิจ มาปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทชั้นเรียนของประเทศไทย จนเกิดเป็น “นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนด้วยวิธีการแบบเปิด (Thailand Lesson Study incorporated with Open Approach -TLSOA)” และกลายเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

“การพัฒนาคุณภาพโรงเรียนทั้งระบบ เป็นกระบวนการที่ไม่ใช่เพียงครูผู้สอนขับเคลื่อนชั้นเรียนเอง แต่ทั้งผู้อำนวยการ ครูจากกลุ่มสาระวิชาหรือระดับชั้นอื่น ศึกษานิเทศก์ หรือบุคลากรส่วนอื่นสามารถร่วมสร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ โดยเน้นพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนในชั้นเรียน พัฒนาการใช้ห้องเรียนจริง เน้นการเรียนรู้ร่วมกันของครูและบุคลากรทุกระดับเพื่อทำความเข้าใจและยอมรับแนวคิดของนักเรียน และเน้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานของการพัฒนา เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชั้นเรียนให้ดียิ่งขึ้น นำไปสู่การผลิต Smart people อันเป็นรากฐานสำคัญของ Smart city”

ขณะที่นายยุทธพร พิรุณสาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ตามที่ทางจังหวัดขอนแก่นมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนจังหวัดให้เป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City การขับเคลื่อนการศึกษาด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมฯ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ขับเคลื่อนการทำงานเชิงวิจัยและพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อยกระดับคุณภาพชั้นเรียนมาอย่างยาวนาน และได้เห็นความพยายามที่สถาบันฯ มข. ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ขยายผลโมเดลเชิงนวัตกรรม TLSOA ในระดับเขตพื้นที่การศึกษาของจังหวัดขอนแก่น และมีโรงเรียนจำนวน 52 โรงเรียน ภายใต้สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 1 – 5 เข้าร่วมมาตลอด

“การพัฒนาเมืองขอนแก่นให้เป็นเมืองอัจฉริยะ มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่เมืองขอนแก่นมีการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด เป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีผู้คนรู้จัก สนใจ และเข้ามาในจังหวัดขอนแก่นอย่างมากมาย ต้องประกอบด้วยมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นส่วนหนึ่ง พร้อมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า หากทางจังหวัดขอนแก่นร่วมกับสถาบันฯ มข. และหน่วยงานทางการศึกษาในจังหวัดทั้งหมด เราจะสามารถขับเคลื่อนร่วมกันในฐานะ Smart city เพื่อเพิ่มคุณภาพ ต่อยอดการพัฒนาขยายผลกับเครือข่าย และสร้างความยั่งยืนทางการศึกษา”

สำหรับกิจกรรมการเปิดชั้นเรียนระดับชาติในครั้งนี้ ทีมผู้จัดได้ตระหนึกถึงการพลิกโฉมทางดิจิทัล (Digital Disruption) ในการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการแก้ปัญหาเพื่อยกระดับคุณภาพบริการทางสังคมด้านการศึกษา จึงเตรียมการดำเนินงานในรูปแบบ Hybrid ทั้ง on-site ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ online บนเว็บไซต์ www.openclassthailand.com

ทั้งนี้ ผู้บริหารและคณาจารย์ นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศ ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู และบุคคลที่สนใจจากทุกภูมิภาคในประเทศไทย รวมจำนวนกว่า 1,000 คน ที่เข้าร่วมการเปิดชั้นเรียน จะได้พบกับครูผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรมการสอนจากทุกภูมิภาคในประเทศไทย การบรรยายพิเศษ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากในประเทศและต่างประเทศ การเสวนาจากทีมการศึกษาชั้นเรียน และสารคดี 20 ปี เส้นทางการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม TLSOA พร้อมกับนิทรรศการของโรงเรียนที่ใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาชั้นเรียนให้ได้รับชมอีกด้วย

สำหรับการบรรยาย ทิศทางในการขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพครู และสถานศึกษา โดย ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู และสถานศึกษาการบรรยายพิเศษ จากผู้เชี่ยวชาญชาวไทยและชาวต่างประเทศ,บรรยายพิเศษ หัวข้อ ประวัติศาสตร์และพัฒนาการของครุศึกษา มุมมองเชิงนวัตกรรม โดย ดร.สุเมธ แย้มนุ่น ประธานคณะอนุกรรมการด้านนโยบายและแผน (สปอว.) ,บรรยายพิเศษ หัวข้อ แนวทางการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อกับการศึกษาในสถาบันเชิงวิชาชีพ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, บรรยายพิเศษ หัวข้อ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกับระบบการพัฒนาวิชาชีพของประเทศไทย (Pre-record) โดย ศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการกำกับทิศทางฯ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.), บรรยายพิเศษ หัวข้อ การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะการคิด ประสบการณ์ของประเทศญี่ปุ่น โดย Prof. Hideyo Emori Otani University for Research and International, Japan และบรรยายพิเศษ หัวข้อ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษากับการกำหนดนโยบายของประเทศ โดย ศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.

 



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น