มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ครั้งที่ 5 ที่ จ.ขอนแก่น

มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ครั้งที่ 5 ที่ จ.ขอนแก่น

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นำกรมคุ้มครองสิทธิ ฯ ร่วมกับกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม จัดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ครั้งที่ 5 จังหวัดขอนแก่น ไกล่เกลี่ยได้สำเร็จ รวมเก้าหมื่นกว่าราย ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีได้ เจ็ดพันล้านบาท
เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567 ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น รายงานจาก โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชาออคิด ว่า เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ผ่านมา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เดินทางมาเป็นประธานพิธีเปิดโครงการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน เพื่อเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และโครงการมหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม ครั้งที่ 5 จังหวัดขอนแก่น โดยมี นายสิงหภณ ดีนาง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดขอนแก่น เขต 6 พรรคเพื่อไทย เดินทางมาให้การต้อนรับ และมี น.ส.เอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นผู้กล่าวรายงาน และ นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดแก่น เป็นผู้กล่าวต้อนรับ ในการนี้มี นายยุทธพร พิรุณสาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น, นายประจวบ รักษ์แพทย์ ปลัดจังหวัดขอนแก่น , พล.ต.ต.อนุวัตร์ สุวรรณภูมิ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น ,พ.อ.วีรเทพ การุณรอบดุล เสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 23 ,นายชัยณรงค์ กุจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ,น.ส.รวิวรรณ ศิริเกษม ทรัพย์ ผู้อำนวยการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ,นายศรชัย จันโทวงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการธนาคารออมสินสายงานกิจการสาขา 4 ธนาคารออมสิน ภาค 11, น.ส.ระพิพรรณ บุตรคำ ผู้อำนวยการภาค 11 ธนาคารออมสิน, นางปาริชาติ ลิ้มเจริญ อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิฯ ,น.ส.รวิวรรณ จตุรพิธพร ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม พร้อมหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ร่วมให้การต้อนรับ และให้เกียรติเข้าร่วมงานด้วย


พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวระหว่างการเปิดงานฯ ว่า การจัดงานในวันนี้ ถือเป็นงานที่ให้โอกาสคนมนุษย์ทุกคนมี 2 สิ่ง คือความหวังหรือความฝันและความกลัว ที่อาจเกิดขึ้นกับทุกคนได้เสมอ สมัยผมเป็นตำรวจ ได้รับมอบหมายงานแก้ปัญหายาเสพติด การปราบปรามผู้อิทธิพล และสุดท้ายกับการแก้ปัญหาความยากจน แต่สุดท้ายครั้งนั้นรัฐบาลถูกยึดอำนาจเสียก่อน ในขณะที่ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือน ยังไม่รวมหนี้ข้าราชการ ซึ่งหนี้ของประชาชนกำลังฉุดรั้งเศรษฐกิจ ทำร้ายประเทศ
พ.ต.อ.ทวี กล่าวด้วยว่าในฐานะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และภาคีเครือข่าย ถือว่าการแก้ปัญหาหนี้ถือเป็นการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชน เป็นงานของฝ่ายปกครองที่สำคัญ และยิ่งใหญ่มาก ๆ เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องเข้ามาดำเนินการแก้ปัญหาหนี้ ที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจ
“วันนี้ลูกหนี้ กยศ. โดยเฉพาะลูกหนี้ที่อยู่ในเรือนจำขอนแก่นมี 127 คน บางคนเป็นหนี้กว่า 4 แสนบาท ต้องได้รับการแก้ปัญหา ยังมีหนี้ครูที่ติดหนี้สหกรณ์ หนี้บัตรประชาชนที่เกิดจากเจ้าหนี้ของธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย รวมถึงกรมสรรพากร จึงมีการเชิญหัวหน้าส่วนราชการอย่างสำนักงบประมาณมาสร้างความเข้าใจในการทำงานของกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมถ้วนหน้าแก่ประชาชน“
สำหรับการจัดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หนี้เช่าซื้อรถยนต์ หนี้สินข้าราชการ หนี้บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ผิดนัดชำระหนี้เข้าเกณฑ์จะถูกฟ้องดำเนินคดี หรือไม่มีกำลังผ่อนชำระตามสัญญา ได้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และรู้สิทธิตามกฎหมาย เข้าถึงความยุติธรรม รวมถึงสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับการวางแผน และสร้างวินัยทางการเงินให้ประชาชนเป็นเกราะป้องกันปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน


โดยลูกหนี้จะได้รับโปรโมชั่นนอกจากจะไม่ถูกฟ้องคดี ไม่ถูกยึดทรัพย์ ไม่ถูกขายทอดตลาด แล้วยังจะได้รับสิทธิพิเศษ ส่วนลดจบหนี้ ส่วนลดดอกเบี้ย ลดค่างวดและขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ และสิทธิประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย ภายในงานมีการให้บริการต่างๆ มายมาย เช่น การเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย และการสร้างการตระหนักรู้ เกี่ยวกับ การวางแผน และสร้างวินัยทางการเงิน การจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์ ให้คำปรึกษาทางกฎหมายหรือการเงินของ 24 หน่วยงาน และการให้บริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ทั้งก่อนฟ้องและหลังศาลมีคำพิพากษา
โดยมีภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จำนวน 13 สถาบัน ประกอบด้วย (1) ธนาคารกรุงไทย (KTB) (2) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) (3) บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจเค จำกัด (JK) (4) บริษัท บริหารสินทรัพย์ เจ จำกัด (JAM) (5) บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) (JMT) (6) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) (7) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) (8) ธนาคารออมสิน (GSB) (9) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธ.อ.ส.) (10) ธนาคารอิสลาม (ISBT) (11) โตโยต้า ลีสซิ่ง (12) ธนาคารไทยพาณิชย์ (13) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
กระทรวงยุติธรรม นำโดย พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบหมายให้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมบังคับคดี ดำเนินการ เดินหน้าจัดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ทั่วประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ได้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และ เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่น ๆ จากสถาบันการเงิน ทั้งนี้ ไกล่เกลี่ยได้สำเร็จ 94,328 ราย ทุนทรัพย์รวมทั้งสิ้น 23,529,021 บาท ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีได้ 7,024,339,460 บาท
ข้อมูลการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง สำเร็จ 49,935 ราย ทุนทรัพย์ 7,078,978,618 บาท ลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน 6,419,844,288 บาท ลดต้นทุนภาครัฐได้ถึง 3,677,376 บาท ข้อมูลการไกล่เกลี่ยหลังศาลมีคำพิพากษา สำเร็จ 44,393 ราย ทุนทรัพย์ 16,450,422,403 บาท ลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน 604,495,172 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังได้รับเรื่องร้องเรียน จากกลุ่มผู้แทนคณะครูขอนแก่น ที่มาร้องขอความเป็นธรรมให้มีการปรับโครงสร้างหนี้โดยการเจรจาขอส่วนลดจากเจ้าหนี้แล้วจ่ายหนี้ทั้งหมดเพื่อปิดบัญชีทันที หรือการแฮร์คัท จากดอกเบี้ยค้างจ่าย ด้วย
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมรับฟังการไกล่เกลี่ยคดีลูกหนี้ด้วย โดยได้ให้คำแนะนำแก่ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชน ถึงช่องทางการช่วยเหลือประชาชนผ่านกระทรวงยุติธรรม ระหว่างการเยี่ยมชมห้องสำหรับการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องและหลังฟ้องดำเนินคดีด้วย ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับการลดยอดหนี้ ได้กล่าวขอบคุณ
ประชาชนที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม งานมหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม ได้ที่ สายด่วนยุติธรรม โทร 1111 กด 77 และสายด่วนกรมบังคับคดี โทร 1111 กด 79 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น