“กฟก.ภูมิภาค 3″เปิดวงหารือแนวทางพัฒนาโคเนื้ออีสาน

“กฟก.ภูมิภาค 3″เปิดวงหารือแนวทางพัฒนาโคเนื้ออีสาน

สำนักกิจการสาขาภูมิภาคที่ 3 จะรวบรวมแนวความคิดเกี่ยวการเลี้ยงโคเนื้อ จัดทำเป็นแนวทางในการพัฒนาแผนและโครงการเชิงรุกด้านโคเนื้อเสนอคณะกรรมการบริหารเพื่อให้ความเห็นชอบ ควบคู่กับการปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ร่วมกับองค์กรเกษตรกรและภาคีความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อให้การฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรสามารถตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้อย่างแท้จริง
เมื่อวัน17 พ.ค. 2567 ที่ สำนักกิจการสาขาภูมิภาคที่ 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)เลขที่ 343 หมู่ที่ 15 ตึกวิจัย 2 ถนนท่าพระ – โกสุม ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น สำนักกิจการสาขาภูมิภาคที่ 3 ได้จัดประชุมหารือแนวทางการพัฒนาโคเนื้ออีสาน โดยมีนายสมศักดิ์ คุณเงิน เป็นประธานที่ประชุม และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กฟก. (ดร. พัฒนา นุศรีอัน ,นส.พ.ชาญประเสริฐ พลซา) อนุกรรมการ คณะทำงานด้านการฟื้นฟู ที่ปรึกษา กฟก. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จำนวน 18 คนเข้าร่วม


เริ่มจากนายประยงค์ อัฒจักร ผู้อำนวยการสำนักกิจการสาขาภูมิภาคที่ 3 ได้เล่าถึงบทเรียนการสนับสนุนโครงการเลี้ยงโคของกองทุน และ ดร. พัฒนา นุศรีอัน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กฟก. นำเสนอความเป็นมาที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของเครือข่ายเกษตรกรช่วยชาติ ให้เป็นที่ปรึกษาแนะนำการเสนอโครงการเพื่อขอกู้เงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร
ที่ประชุมได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการเลี้ยงโคกันอย่างกว้างขวาง เต็มไปด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริงใหม่ๆ ที่จะสามารถนำไปปฏิบัติการในพื้นที่และจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย จำแนกผู้เลี้ยงโคออกเป็น 3 กลุ่ม (1) กลุ่มเลี้ยงเป็นอาชีพ ได้แก่ กลุ่มขุนโคพรีเมี่ยม (ขุนเนื้อแดง ขุนไขมันแทรก) (2) กลุ่มขนาดกลางที่เลี้ยงโคตั้งแต่ 10 ตัวขึ้นไป และ (3) กลุ่มผู้เลี้ยงรายย่อยที่เลี้ยงเป็นอาชีพเสริม จึงมีความเห็นร่วมกันว่าการเลี้ยงโคต้องไม่มีมาตรฐานเดียว แต่ให้เหมาะสมกับเกษตรกรแต่ละกลุ่ม กลุ่มเกษตรกรเองก็จะต้องมีความชัดเจนว่าจะเลี้ยงโคด้วยจุดประสงค์ใด หรือจะอยู่ในขั้นตอนใดของห่วงโซ่อุปทาน เช่น เลี้ยงโคต้นน้ำเพื่อผลิตลูกโคคุณภาพ เลี้ยงโคกลางน้ำ เลี้ยงขุนเนื้อแดง เลี้ยงขุนไขมันแทรก หรือจะเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์ แปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตวฺ เช่น หม่ำ เนื้อแดดเดียว หรือจะทำเรื่องการตลาด


ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกัน ควรเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมปศุสัตว์ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนให้มีโรงเชือดขนาดเล็กที่มีมาตรฐานในระดับพื้นที่ มีเขียงเนื้อมาตรฐาน (ปศุสัตว์โอเค) ทุกตำบล รวมถึงหาแนวทางจัดตั้งโรงงานอาหารสัตว์อย่างน้อยอำเภอละหนึ่งแห่งเพื่อยกมาตรฐานการเลี้ยงโคให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงเป็นอาชีพได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นด้วยกับข้อเสนอให้มีการเสนอต่อฝ่ายนโยบายให้จัดตั้งองค์การส่งเสริมกิจการโคเนื้อแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริม สนับสนุนกิจการโคเนื้อแบบครบวงจรรวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง
ในส่วนของสำนักกิจการสาขาภูมิภาคที่ 3 จะรวบรวมแนวความคิดเกี่ยวการเลี้ยงโคเนื้อ จัดทำเป็นแนวทางในการพัฒนาแผนและโครงการเชิงรุกด้านโคเนื้อเสนอคณะกรรมการบริหารเพื่อให้ความเห็นชอบ ควบคู่กับการปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ร่วมกับองค์กรเกษตรกรและภาคีความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อให้การฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรสามารถตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้อย่างแท้จริง.



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น