อีสานโพลทำวิจัยพบคนอีสานถูกหลอกผ่านโทรศัพท์มากสุด

อีสานโพลทำวิจัยพบคนอีสานถูกหลอกผ่านโทรศัพท์มากสุด

ศูนย์วิจัยอีสานโพล มข. ทำวิจัยพบคนอีสานถูกหลอกและหลงเชื่อจนสูญเงินผ่านการคุยโทรศัพท์และเฟซบุ๊กมากที่สุด เรื่องที่โดนหลอกง่ายที่สุด คือ หลอกโดยปลอมเป็นตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ ธนาคาร และหลอกขายสินค้า บริการออนไลน์ ส่วนผลงานรัฐบาลปราบมิจฉาชีพได้ไหมให้คะแนนแค่ 1 เปอร์เซ็นต์

อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “คนอีสานกับการถูกหลอกให้โอนเงิน” ผลสำรวจพบว่า คนอีสานถูกหลอกและหลงเชื่อจนสูญเงินผ่านการคุยโทรศัพท์และเฟซบุ๊กมากที่สุด ประเด็นที่โดนหลอกง่ายที่สุด คือ หลอกโดยปลอมเป็นตำรวจ/เจ้าหน้าที่รัฐ/ธนาคาร และหลอกขายสินค้า/บริการออนไลน์ หน่วยงานหรือเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ในการป้องกันการถูกหลอกที่คนอีสานรู้จักมากที่สุด คือ ตำรวจไซเบอร์ และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย แต่ยังรู้จักไม่ทั่วถึง วิธีป้องกันตัวจากมิจฉาชีพที่ใช้เป็นประจำ คือ จะเช็คให้ชัวร์ก่อนโอน และหลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว แต่ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และความระมัดระวังในการป้องกันมิจฉาชีพ และให้คะแนนรัฐบาลในการปราบปรามมิจฉาชีพและข่าวลวง 46% จาก 100%

รศ. ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจสำรวจเรื่องคนอีสานถูกมิจฉาชีพหลอกลวงนี้ เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานเกี่ยวกับการถูกมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงิน โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18-20 พฤษภาคม 2567 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,088 รายในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด

โดยเมื่อสอบถามว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ท่านได้รับข้อความ/การติดต่อสื่อสารจากกลุ่มมิจฉาชีพ ทางช่องทางใดบ้าง พบว่า รายละเอียดของการติดต่อสื่อสารจาก 9 ช่องทางเป็นดังนี้ คือ 1.การพูดคุยทางโทรศัพท์ ช่องทางที่ 2 คือ เฟซบุ๊กและเมสเซนเจอร์ ช่องที่ 3 คือ ข้อความ SMS เป็นช่องทางการสื่อสาร ช่องทางที่ 4 คือ ไลน์ (LINE) ช่องทางที่ 5 การท่องเว็บ ช่องทางที่ 6 อินสตาแกรม ช่องทางที่ 7 บัญชีเอ็กซ์ (X) ช่องทางที่ 8 อีเมล์ และช่องทางที่ 9. ติ๊กต็อก

รศ.ดร.สุทิน กล่าวว่า โดยสรุป จาก 9 ช่องทาง ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา คนอีสานถูกหลอกและหลงเชื่อจนสูญเงินสูงถึงร้อยละ 17.3 โดยถูกหลอกจากช่องทางการพูดคุยทางโทรศัพท์มากที่สุด ร้อยละ 8.1 รองลงมา เฟซบุ๊กและเมสเซนเจอร์ ร้อยละ 5.0 ตามมาด้วย ข้อความ SMS ร้อยละ 2.2 ไลน์ ร้อยละ 1.2 การท่องเว็บ ร้อยละ 0.4 อินสตาแกรม ร้อยละ 0.2 บัญชีเอ็กซ์ ร้อยละ 0.2 อีเมล์ ร้อยละ 0.1 และ ยังไม่มีการหลงเชื่อจนการสูญเงินผ่านติ๊กต็อก
เมื่อสอบถามต่อว่า ประเด็นอะไรที่ท่านคิดว่าตัวท่านเองอาจจะโดนหลอกจากกลุ่มมิจฉาชีพได้ง่ายที่สุด พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 35.6 ตอบว่าหลอกโดยปลอมเป็นตำรวจ/เจ้าหน้าที่รัฐ/ธนาคาร อันดับ 2 ร้อยละ 16.8 หลอกขายสินค้า/บริการออนไลน์ อันดับ 3 ร้อยละ 9.7 หลอกว่าถูกรางวัลหรือจะได้รับเงินก้อนใหญ่ อันดับ 4 ร้อยละ 8.2 หลอกให้กรอกข้อมูลรับเงินจากรัฐบาล อันดับ 5 ร้อยละ 6.3 มิจฉาชีพแฮกบัญชีไลน์/เฟซบุ๊กเพื่อนแล้วหลอกยืมเงิน อันดับ 6 ร้อยละ 5.5 หลอกลงทุนได้ผลตอบแทนสูง อันดับ 7 ร้อยละ 5.0 หลอกให้กรอกข้อมูลเพื่อรับของรางวัล อันดับ 8 ร้อยละ 4.6 หลอกกู้เงินออนไลน์ อันดับ 9 ร้อยละ 4.1 หลอกโดยพนัน/เกมออนไลน์ อันดับ 10 ร้อยละ 2.4 หลอกว่าโอนผิดให้โอนคืน และอันดับ 11 ร้อยละ 1.8 หลอกให้รักบอกให้โอน

เมื่อสอบถามต่อว่า ท่านรู้จักหน่วยงานหรือเครื่องมือใดบ้าง ที่เป็นประโยชน์ในการป้องกันข่าวลวงและการถูกหลอกให้โอนเงิน พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 57.1 รู้จักกองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ (กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) อันดับ 2 ร้อยละ 36.9 รู้จักศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย อันดับ 3 ร้อยละ 32.8 รู้จักแอปพลิเคชัน ฮูส์คอลล์ (Whoscall) อันดับ 4 ร้อยละ19.5 รู้จักเว็บเช็คก่http://xn--q3c3b.com/ อันดับ 5 ร้อยละ 15.9 รู้จักศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ อันดับ 6 ร้อยละ 13.7 รู้จักเว็http://xn--92cwpb0d7b7a4j.com/ และอันดับ 7 ร้อยละ 11.6 รู้จัก โครงการโคแฟค หรือ COFACT จากผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนจำนวนมากยังไม่รู้จักหน่วยงานและเครื่องมือสำหรับการรู้ทันข่าวลวงและมิจฉาชีพ

เมื่อสอบถามต่อว่า วิธีป้องกันตัวจากมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงิน ข้อใดที่ท่านเลือกใช้อยู่เป็นประจำ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 63.0 จะเช็คให้ชัวร์ก่อนโอน อันดับ 2 ร้อยละ 58.6 หลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว อันดับ 3 ร้อยละ 41.7 ไม่คลิกลิงก์จากเว็บไซต์ที่ไม่รู้จัก อันดับ 4 ร้อยละ 36.3 ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดจะได้รู้เท่าทัน อันดับ 5 ร้อยละ 28.9 ปรึกษาคนใกล้ชิดก่อนโอนเสมอ อันดับ 6 ร้อยละ 28.6 เปิดแจ้งเตือนการโอนเงินเข้าออก อันดับ 7 ร้อยละ 23.9 แชร์ข่าวการถูกหลอกให้คนใกล้ชิดทราบ อันดับ 8 ร้อยละ 23.4 ตั้งค่าการยืนยันตัวตนแบบสองชั้น อันดับ 9 ร้อยละ 14.5 ใช้แอป Whoscall กรองเบอร์โทร อันดับ 10 ร้อยละ 13.5 ใช้รหัสผ่านต่างกันสำหรับแต่ละบัญชี อันดับ 11 ร้อยละ 7.3 หลีกเลี่ยงใช้ Wi-Fi สาธารณะทำธุรกรรม และอันดับ 12 ร้อยละ 5.9 จำกัดวงเงินโอนต่อวัน จากผลสำรวจนี้สะท้อนให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และความระมัดระวังในการป้องกันมิจฉาชีพ

และสุดท้ายเมื่อสอบถามว่า ผลงานรัฐบาลในการปราบปรามมิจฉาชีพและข่าวลวง เป็นอย่างไร พบว่า มีผู้ตอบระดับดีมากเพียงร้อยละ 1.1 ระดับดี ร้อยละ 17.8 ระดับปานกลางหรือพอใช้ ร้อยละ 51.4 ระดับแย่ ร้อยละ 23.1 และระดับแย่มาก ร้อยละ 6.6 และเมื่อเฉลี่ยเป็นคะแนนเต็ม 100% พบว่าได้คะแนนเฉลี่ย 46.0% ซึ่งต่ำกว่าครึ่ง



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น