หมอครอบครัว – เวชศาสตร์ชุมชน ทางรอดของระบบสุขภาพไทยในอนาคต

หมอครอบครัว – เวชศาสตร์ชุมชน ทางรอดของระบบสุขภาพไทยในอนาคต

วันที่ 9-10 กันยายน 2560 ณ. โรงแรมเจริญธานี จ.ขอนแก่น มีการประชุมวิชาการ “แพทย์ชนบทคืนถิ่นสู่แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชอบ พงษ์พาณิชย์ ประธานโครงการแพทย์ชนบทคืนถิ่น “แพทยเวชศาสตร์ครอบครัว” เป็นประธาน และมีแพทย์จากโครงการแพทย์ชนบทคืนถิ่นรุ่น 1-9 ประมาณ 50 คน เข้าร่วมประชุม
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์บุญชอบ ระบุว่า การมีหมอครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น โดยหมอครอบครัวคือการได้อยู่กับครอบครัวที่เราดูแลอยู่ และครูไม่ว่าอยู่ตรงไหนก็จะเป็นครูและสอนได้ หมอครอบครัวคือหมอที่อยู่ในครอบครัวชุมชน และเป็นครูของชุมชน ซึ่งมีหน้าที่ในการให้ความรู้ด้านสุขภาพ ให้บริการประชาชน ในพื้นที่ให้ได้รับบริการด้านสุขภาพที่ดีที่สุด

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ไพจิตร ปวะบุตร ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “แพทย์ชนบทคืนถิ่น สู่ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว” ว่าการจะเป็นหมอของประชาชน เริ่มจากใจที่เราดูแลประชาชน และขณะนี้ได้แรงเสริมจากที่รัฐกำหนดนโยบายไว้ชัดเจนว่า การบริการด้ารสาธารณสุขนั้น การบริการต้องเป็นแบบปฐมภูมิ ดังนั้นศาสตร์ที่ใช้ต้องเป็นเวชศาสตร์ครอบครัว แต่อย่างไรก็ตามการมีนโยบายอย่างเดียวไม่เพียงพอ จะต้องมีคนในพื้นที่นำนโยบายนี้ไปทำต่อและขับเคลื่อนในพื้นที่อย่างพอเพียง ด้วยการค่อยๆ ก้าวไป ขณะนี้ประชาชนพร้อมแล้วที่จะรอรับบริการจากแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว
นายแพทย์ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น กล่าวว่า จากผลการวิจัยหลายชิ้นในต่างประเทศระบุว่าการรักษาผู้ป่วยที่ดีนั้นไม่สามารถใช้เพียงแค่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่ระบบที่ดีจะต้องให้ความสำคัญกับการให้บริการของแพทย์เวชศาสตร์ชุมชน และจากการศึกษาอัตราส่วนของการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลของกลุ่มประเทศ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) ซึ่งสมาชิกล้วนเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เมื่อปี 2554 พบว่า ประเทศที่เข้ารับการรักษามากที่สุดคือ ญีปุ่น 13.1 ครั้งต่อปี สหรัฐอเมริกา 4.1 ครั้งต่อปี เม็กซิโก 2.1 ครั้งต่อปี ในขณะที่ไทยเข้ารับการรักษาเพียง 2.69 ครั้งต่อปี

ประเทศไทยมีกองทุนเพื่อการรักษาพยาบาลหลัก 3 กองทุน คือ กองทุนสิทธิข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งแต่ละกองทุนมีแนวโน้มที่จะใช้งบประมาณเพื่อการรักษาพยาบาลมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นความท้าทายในการบริหารจัดการคือ การการควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพื่อความยั่งยืนของระบบ และการบูรณาการ ลดความเหลื่อมล้ำการจัดการแต่ละกองทุน เพื่อให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์สุขภาพที่เปลี่ยนไป

โดยในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 หมวดที่ 16 ที่ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศด้านอื่นๆ นั้น ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า จะให้ความสำคัญกับการปรับระบบหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์จากการบริหารจัดการและการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและสะดวกทัดเทียมกัน และให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ต้องการให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพ สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็น ได้ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ไม่ล้มละลายจากการเจ็บป่วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์อภินันท์ อร่ามรัตน์ หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าการทำงานเพื่อดูแลคนไข้ของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวซึ่งทั่วประเทศมีประมาณ 7,000 คน นั้นจะต้องทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิดกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค ซึ่งมีอยู่ประมาณ 30,000 คน ด้วยการเอาคนไข้เป็นฐานในการเรียนรู้ และดึงแพทย์ทั้งสองสาขามาเรียนรู้การดูแลคนไข้ร่วมกัน โดยสถาบันหลักทางการแพทย์จะเป็นฐานทางวิชาการให้ จะทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อประโยชน์ของคนไข้ ดังนั้นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวต้องมีคุณภาพ ต้องทำงานร่วมกันกับคนไข้ ญาติ ครอบครัวคนไข้ และชุมชนได้ โดยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในแต่ละพื้นที่จะต้องปรับการดำเนินงาน ให้เหมาะสมกับพื้นที่มีบริบทที่ไม่เหมือนกัน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ปัตตพงษ์ เกษสมบูรณ์ หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวนั้น ถือว่าเป็นแพทย์ที่ใช้ศาสตร์ “ภูมิปัญญาสากล หรือภูมิปัญญาจักรวาล” เพื่อการรักษาผู้ป่วย ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ 1. จากการทำวิจัย การเรียน การให้บริการ การแก้ไขปัญหาให้คนไข้ ซึ่งจะเกิดประสบการณ์ เพื่อนำไปถ่ายทอดให้กับผู้อื่นเพื่อทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม เราสามารถสร้างเวชศาสตร์ครอบครัวที่ทีที่สุดในโลกได้ด้วยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกัน สร้างปัญญาร่วมกัน เพื่อให้เป็นที่พึ่งของประชาชน และแพทย์รุ่นใหม่อยากเข้ามาทำงานเวชศาสตร์ครอบครัวมากขึ้น 2. การมีสถาบันหลักในการฝึกอบรมปฏิบัติงาน และ 3. การหลุดออกจากกรอบความคิดในการรักษาผู้ป่วยด้วยมาตรฐานแบบเดิม ๆ เป็นการใช้ศาตร์ทางเลือกใหม่ๆ ในการรักษาผู้ป่วย.

หมอครอบครัวคือหมอที่อยู่ในครอบครัวชุมชน และเป็นครูของชุมชน ซึ่งมีหน้าที่ในการให้ความรู้ด้านสุขภาพ ให้บริการประชาชน ในพื้นที่ให้ได้รับบริการด้านสุขภาพที่ดีที่สุด



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น