เภสัชกรอีสานยืนยันคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยาใหม่ ชี้ไม่ได้ดราม่าปกป้องวิชาชีพเภสัชกร แต่เพื่อความปลอดภัยผู้บริโภค
วันที่ 1 กันยายน 2561 เวลา 13.00-15.30 น. ณ ห้องประชุมอาคาร 1 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมาคมศิษย์เก่าเภสัชศาสตร์ภาคอีสาน 3 สถาบัน คือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รวมถึง ชมรมเภสัชกรทุกภาคส่วนในพื้นที่ภาคอีสาน เช่น ชมรมเภสัชกรชุมชน ชมรมเภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจงหวัด (สสจ.) ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนในพื้นที่ภาคอีสาน และหน่ววยงานภาคีเครือข่าย จัดเวทีแสดงพลังเพื่อคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับใหม่
เภสัชกรวรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร อุปนายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 นั้นควรมี 2 เรื่อง คือ การกระบวนการขึ้นทะเบียนยาที่ต้องรวดเร็วขึ้น และการทบทวนตำรับยาหากไม่เหมาะสมก็สามารถยกเลิกได้ และ การดำเนินงานตาม ม.44 ของ คสช. ไม่ใช่การแก้ไขตามอำเภอใจ และหลักคิดของการร่างกฎหมายควรร่างจากหลักการสำคัญ เช่น การแบ่งประเภทของยาตามระบบสากล หลักการใครเรียนก็ได้ทำ ใครไม่ได้เรียนห้ามทำ และการแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การขายยาผ่านอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งควรมีการศึกษากฎหมายของต่างประเทศ เพื่อให้กฎหมายที่ออกมารอบคอบที่สุด ไม่ใช่การไปร่างกันเพียง 3-4 คน เท่านั้น และขอยืนยันว่าการออกมาคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.ยาใหม่ในครั้งนี้เป็นเพราะเราห่วงความปลอดภัยของประชาชนในการใช้ยา ไม่ใช่ห่วงวิชาชีพ
เภสัชกรจิระ วิภาสวงศ์ เภสัชกรเชี่ยวชาญ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน กล่าวว่า การคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. ยาใหม่ ในครั้งนี้ เนื่องจากเราเห็นจุดอ่อนมากมายใน ร่างพ.ร.บ. ยาใหม่ และได้ศึกษาจนแน่ใจว่าไม่ได้ดีกว่า พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 เลย หากจะมีการปรับปรุงกฎหมายใหม่นั้นควรจะเน้นการแยกบทบาทหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ คือ แพทย์ และ ทันตแพทย์ มีหน้าที่ในการวินิจฉัยโรค และสั่งการรักษา ส่วนการจ่ายยารักษาโรคคือวิชาชีพของเภสัชกร
เภสัชกรจิระ กล่าวว่า สิ่งที่ห่วงกังวลคือ เรื่องการปรุงยา ซึ่งต้องยอมรับว่าในสถานพยาบาลเอกชน และ คลินิก เช่น คลินิกโรคผิวหนัง นั้นมีการปรุงยาเพื่อใช้กับคนไข้ของตนเอง โดยเป็นการปรุงยาตามตำรับลับ ซึ่งทุกวิชาชีพไม่ยอมรับการปรุงยาแบบตำรับลับนี้ เพราะแม้จะแค่แบ่งบรรจุยาก็ถือว่าเป็นศาสตร์ที่ต้องเรียนรู้ หากปล่อยให้มีการปรุงยาง่ายๆ จะมีความเสี่ยงมากในเรื่องความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และการจ่ายยาโดยคลินิกของวิชาชีพพยาบาล ซึ่งมีมากในระดับอำเภอ เพราะจากการตรวจสอบของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จะพบว่ากรอบรายการยาที่ใช้ในคลินิกไม่มีความเหมาะสม และไม่มีการถ่วงดุล และตรวจสอบทางวิชาชีพ ซึ่งจะเกิดผลเสียกับผู้ป่วย.