บสย. รุกตลาดภูมิภาค ขอนแก่น ดันยอดค้ำฯ ไตรมาส 3 – 4

11 กันยายน 2561 ที่โรงแรมพูลแมน ราชาออคิด  ขอนแก่น  บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมหรือ บสย.ได้เปิดโครงตัวโครงการค้ำประกันสินเชื่อกับธนาคารพันธมิตรระดับภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   ซึ่งทาง บสย. เปิดแผนค้ำประกันสินเชื่อ ไตรมาส 3-4 ปูพรมระดับภูมิภาค โดยมีธนาคารร่วมผลักดัน  2 โครงการใหม่ “SMEs ทวีทรัพย์” และ “รายย่อยสร้างอาชีพ” วงเงิน 165,000 ล้านบาท  หนุนผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อ นำร่อง ขอนแก่น  เชียงใหม่  สงขลา      ชูกลยุทธ์ เจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม  รับมาตรการรัฐ ช่วย SMEs ทุกระดับเข้าถึงแหล่งทุน

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยแผนและกลยุทธ์การตลาด บสย. ในไตรมาส 3-4 ว่า จะลงพื้นที่เป้าหมายในระดับภูมิภาค 3 จังหวัดครอบคลุมพื้นที่การให้บริการค้ำประกันสินเชื่อ จุดแรกที่ จังหวัดขอนแก่น จากนั้นก็ไปที่จังหวัดเชียงใหม่   และปิดท้ายที่ จังหวัดสงขลา  เพื่อสร้างการรับรู้ รายละเอียดและความพิเศษของโครงการค้ำประกันสินเชื่อ  SMEs ทวีทรัพย์ (PGS7) วงเงิน 150,000 ล้านบาท               และโครงการค้ำประกันสินเชื่อรายย่อยสร้างอาชีพ     (MICRO3) วงเงิน 15,000 ล้านบาท กับธนาคารพันธมิตรที่ร่วมโครงการในแต่ละภูมิภาคอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ แผนสร้างการรับรู้และชี้แจงรายละเอียดกับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้เร็วและง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทรัพย์ (PGS7) ที่ บสย.ได้พัฒนาขึ้นภายใต้กลยุทธ์ Segmentation แบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อเป็น 6 กลุ่มชัดเจน และตอบโจทย์มาตรการของรัฐบาลมากขึ้น  ประกอบด้วย กลุ่ม SMEs ประชารัฐและนโยบายรัฐบาลผ่านธนาคารกรุงไทย และสินเชื่อนโยบายรัฐ    กลุ่ม SMEs นิติบุคคล บัญชีเล่มเดียว ซึ่งเป็น SMEs ประเภทนิติบุคคล ที่ใช้งบการเงินส่งกรมสรรพากรในการพิจารณายื่นขอสินเชื่อ หรืออยู่ภายใต้โครงการสินเชื่อนิติบุคคล บัญชีเล่มเดียวของสถาบันการเงิน  กลุ่ม SMEs รายเล็ก ผู้ประกอบการที่มีทรัพย์สินถาวร (ไม่รวมที่ดิน) ไม่เกิน 50 ล้านบาท  กลุ่ม SMEs ได้รับสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ  กลุ่ม SMEs ทั่วไปที่มีทรัพย์สินถาวร (ไม่รวมที่ดิน) ไม่เกิน 200 ล้านบาท และกลุ่มเฉพาะของแต่ละสถาบันการเงิน เป็น SMEs ตามเงื่อนไขของสถาบันการเงิน    คาดว่าทั้ง 6 กลุ่ม จะช่วยให้ธนาคารมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อ และผู้ขอสินเชื่อสามารถเลือกใช้การค้ำประกันสินเชื่อที่ตรงกับความต้องการ เพราะแต่ละกลุ่มมีความชัดเจน ขณะที่โครงการค้ำประกันสินเชื่อรายย่อยสร้างอาชีพ (MICRO3)  วงเงิน 15,000 ล้านบาท ได้รับความสนใจเกินคาด โดยมี 9 ธนาคารเข้าร่วมโครงการ   แผนการรุกตลาดต่อเนื่องตลอดไตรมาส 3 – 4  จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการค้าและธุรกิจ ซึ่งเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบการ SMEs ในการหาแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ จากสถาบันการเงินของรัฐและธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น