กขป.อีสาน จัดงาน มหกรรม สานพลัง “โฮมสุข  อีสาน” ครั้งที่ 1

 

วันที่ 27 ตุลาคม 2561 ที่โรงแรมไอโฮเทล อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน หรือ “กขป.”  ในภาคอีสาน ประกอบด้วย กขป. เขต 7 กขป. เขต 8  กขป. เขต 9 และ กขป. เขต 10 โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช) แถลงข่าวการจัดงาน มหกรรม สานพลัง “โฮมสุข อีสาน” ครั้งที่ 1 ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ขอนแก่น โดยคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 7 ( กขป. เขต 7) ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ประสานงาน และรับเป็นเจ้าภาพในปีแรก

นางจิราภา ธีระกนก  รองประธาน กขป.เขต 7 กล่าวว่า การจัดงานมหกรรม สานพลัง “โฮมสุข  อีสาน” มีวัตถุประสงค์เพื่อ เชื่อมร้อยภาคีเครือข่ายผู้ดำเนินงานเกี่ยวกับสุขภาวะในภาคอีสาน ให้เกิดเป็น “เครือข่ายสุขภาวะ” ที่มุ่งเน้นกระบวนการสานงาน และเสริมพลัง ในระหว่างประเด็น ทั้งแบบข้ามพื้นที่และข้ามประเด็น  ทั้งนี้กระบวนการเชื่อมร้อยดังกล่าวจะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาชุดความรู้ในการแก้ไขปัญหาสุขภาวะที่เกิดขึ้นกับประชาชน ในภาคอีสาน ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน
เนื้อหาหรือประเด็นสุขภาวะในงานมหกรรม สานพลัง “โฮมสุข  อีสาน” ครั้งนี้ ประกอบด้วย 4 ประเด็น คือ การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ    การจัดการระบบอาหารปลอดภัยในท้องถิ่น การจัดการขยะแบบมีส่วนร่วม และ การขับเคลื่อนธรรมนูญพระสงฆ์แห่งชาติ

“คณะทำงาน และภาคีเครือข่าย ทั้ง 4 ประเด็น จาก กขป. 7  กขป. 8 กขป. 9 และ กขป. 10 รวมทั้งคณะทำงานจาก สช กว่า 300 คน ได้ร่วมมือ ร่วมใจกัน เตรียมการจัดงานมหกรรม ฯ ในครั้งนี้ ทั้งในแง่เนื้อหาสาระทางวิชาการที่พยายามจะประมวลสถานการณ์ ปัญหา ของทั้ง 4 ประเด็น  รวมทั้ง ได้รวบรวมความพยายามในการแก้ไขปัญหาที่ประสบความสำเร็จ และมีความโดเด่นในพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคอีสาน เพื่อมานำเสนอในงานมหกรรมครั้งนี้ ทั้งในรูปแบบของเวที วิชาการ แลกเปลี่ยน เรียนรู้ การจัดนิทรรศการ ให้ความรู้ ทั้ง 4 ประเด็น กับผู้เข้ามาร่วมงาน ซึ่งคาดว่า จะมีไม่น้อยกว่า 1,000 คน จากจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสาน”

นางจิราภา กล่าวอีกว่า  สิ่งที่จะได้รับจากการจัดงานมหกรรม สานพลัง “โฮมสุข  อีสาน” ในครั้งนี้ นอกจาก การเชื่อมโยง ภาคี เครือข่าย ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานสร้างสุขภาวะ ในเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ในภาคอีสานทั้ง 4 เขต ในรูปแบบเครือข่ายภาคประชาสังคม ที่มีความเข้มแข็ง แล้ว ยังคาดหวังว่า จะได้ข้อเสนอนโยบายสาธารณะทางด้านสุขภาวะทั้ง ประเด็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ    การจัดการระบบอาหารปลอดภัยในท้องถิ่น การจัดการขยะแบบมีส่วนร่วม และ การขับเคลื่อนธรรมนูญพระสงฆ์แห่งชาติ ที่สอดคล้องกับ สถานการณ์ของภาคอีสาน ซึ่งมาจาก กระบวนการมีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วน เพื่อนำเสนอกับรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกลุ่ม องค์กร ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ นำไปปฏิบัติ ในส่วนที่สามารถดำเนินการได้เอง



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น