เรียนรู้ภาษาไทยจากสื่อมวลชน” โดย… นายธีระพงษ์ โสดาศรี

ตอนที่ 657
“เรียนรู้ภาษาไทยจากสื่อมวลชน”
โดย…
นายธีระพงษ์ โสดาศรี
อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ คนที่ 36
……………………….
คำว่า “คุก” กับ “ตะราง” ต่างกันอย่างไร
……………………….
ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้คำจำกัดความว่า
“คุก” หมายถึง ที่ขังนักโทษ, เรือนจำ
“ตะราง” หมายถึง ที่คุมขังนักโทษ
แต่ตามข้อบังคับสำหรับคุมขังนักโทษ ในกรมพระนครบาล ร.ศ. 110 (พ.ศ. 2434) ได้บัญญัติชื่อคุกและตะราง และได้แบ่งประเภทนักโทษ ซึ่งจะส่งไปคุมขังในที่ทั้ง 2 แห่งนี้ว่า
“คุก” เป็นที่คุมขังนักโทษ จำพวกที่ต้องรับพระราชอาญา ตั้งแต่มัธยมโทษขึ้นไป จนถึงอุกฤษฏ์โทษ มีกำหนดคุมขังตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป จำพวกนี้ให้เรียกว่า กองมหันตโทษ”
คุกในที่นี้จึงหมายถึง ที่คุมขังนักโทษ ที่ต้องคดีอาญาโทษปานกลางจนถึงโทษสูงสุด มีกำหนดโทษตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
คุกกองมหันตโทษ ปัจจุบัน คือ สวนรมณีนาถ
“ตะราง” เป็นที่คุมขังนักโทษ จำพวกที่ต้องรับพระราชอาญาเพียงลหุโทษ คือ โจรผู้ร้ายที่มีกำหนดคุมขังตั้งแต่ 6 เดือนลงมา กับนักโทษที่ต้องรับพระราชอาญามิใช่โจรผู้ร้าย นักโทษจำพวกนี้ให้เรียกว่า กองลหุโทษ
ตะราง ในที่นี้จึงหมายถึง ที่คุมขังนักโทษที่เป็นโจรผู้ร้ายอันเป็นความผิดเล็กน้อย มีกำหนดโทษไม่เกิน 6 เดือน และความผิดอาญาที่ไม่ใช่โจรผู้ร้าย
กองลหุโทษ ปัจจุบันคือ สถานที่ตั้งสโมสรเนติบัณฑิตยสภา
จะเห็นคำว่า “ลหุโทษ” ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 102
“ความผิดลหุโทษ” คือ ความผิดซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดลหุโทษ คือ ความผิดเล็กน้อย หากทำผิดลหุโทษและยินยอมเสียค่าปรับ ในชั้นสอบสวน  (เสียค่าปรับที่สถานีตำรวจ) ถือว่าคดีอาญาระงับ ไม่มีคดีติดตัว แต่ถ้าคดีลหุโทษ แต่ถูกฟ้องต่อศาล (เสียค่าปรับที่ศาล) ถือว่ามีคดีติดตัว
แต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทนั้น เป็นความผิดที่ได้รับการยกเว้นในการรับราชการ หรือสมัครงานต่างๆ
ข้อมูล : ร้านข้าราชการไทย
……………………….
หมายเหตุ : ราชบัณฑิตยสถาน หรือ ราชบัณฑิตยสภา คือแหล่งรวมบัณฑิต นักปราชญ์ ผู้รอบรู้ทั้งหลายในการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ภาษาไทย ฯลฯ ซึ่งเมื่อกำหนดออกมาทุกฝ่ายต้องให้การยอมรับ แต่เท่าที่เห็นมีหลายคำนะครับที่บัญญัตติออกมาแล้ว ชักไม่แน่ใจในราชบัณฑิตยสถาน
เมื่อไม่นานมานี้ที่เคยยกตัวอย่างการออกเสียง “หม่ำ” ที่เป็นอาหารอีสาน แต่ราชบัณฑิตยสถานให้ออกเสียงว่า “หม้ำ” ทั้งๆ ที่ชาวอีสานเรียก “หม่ำ” และเขียนว่า “หม่ำ” ทั้งบ้านทั้งเมือง
วันนี้มีอีกคำครับ นั่นคือคำว่า “หมอแคน” ซึ่งราชบัณฑิตยสถาน ให้คำจำกัดความว่า “เป็นคำนาม หมายถึงผู้มีความชำนาญในการเป่าแคน, อีสานเรียก ช่างแคน”
ที่อยากจะขอโต้แย้งนั่นคือคำว่า อีสานเรียก “ช่างแคน” นี่แหละครับ เพราะคำนี้ไม่เคยได้ยินคนอีสานพูด หรือเรียกกันนะครับ
คนภาคอีสานเรียก “หมอแคน” เหมือนกันครับ
ข้อมูล : ราชบัณฑิตฯ
……………………….
8 มิ.ย.60
อนุญาตเผยแพร่ได้
……………………….



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น