มข.สอบ 3 นักวิจัย เข้าข่ายซื้อผลงานวิจัย

มข.สอบ 3 นักวิจัย เข้าข่ายซื้อผลงานวิจัย
อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบผลงานการวิจัยของนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นกว่า 1,400 งานวิจัย ชี้นักวิจัยต้องมีจริยธรรม เพื่อให้ผลงานมีคุณภาพ ชี้การซื้อขายงานวิจัยถือเป็นการทำผิดร้ายแรงต่อจรรยาบรรณ
    เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่นรายงานว่า จากกรณีนักวิชาการไทยในต่างประเทศรายหนึ่ง ได้ออกมาแฉวงการนักวิชาการไทยว่า มีการซื้อขายงานวิจัยออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ต่างประเทศ โดยนักวิจัยจะอ่านงานวิจัยในเว็บขาย แล้วเลือกได้ว่าจะเป็นผู้วิจัยหลัก หรือผู้วิจัยร่วม ซึ่งแต่ละลำดับมีราคาแตกต่างกันไป จากนั้นกดซื้อ และชำระเงิน งานวิจัยชิ้นนั้นก็จะส่งไปตีพิมพ์ พอจ่ายเงินก็จะเป็นผลงานวิชาการของนักวิจัยได้เลย โดยพบว่ามีชื่อนักวิจัยไทยไปซื้องานวิจัยหลายสิบชิ้น โดยสามารถตั้งข้อสังเกตงานวิจัยที่มีการซื้อขายกันได้ว่า งานวิจัยหนึ่งเรื่องผู้วิจัยไม่รู้จักกัน บางเรื่องผู้วิจัยหลักและร่วมมาจากคนละประเทศ นักวิจัยคนเดียวแต่วิจัยหลากหลายประเด็น ทั้งศาสนา การศึกษา การเงิน เกษตร แต่ไม่เคยมีการตีพิมพ์เป็นภาษาไทยนั้น
   โดยเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2566 รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เปิดเผยว่า หลังจากทราบข่าวการซื้อขายงานวิจัยแล้ว ได้สั่งการให้บัณฑิตวิทยาลัย และฝ่ายวิจัย ตรวจสอบผลงานของนักวิชาการ ที่มีลักษณะการทำงานข้ามศาสตร์ นักวิจัยที่มีผลงานมากผิดปกติ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งในแต่ละปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีงานวิจัยกว่า 1,400 เรื่อง หลังจากทราบข่าวเรื่องการซื้อขายงานวิจัย จึงเร่งให้หน่วยงานในมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องได้มีการตรวจสอบ ซึ่งต้องใช้เวลา เพราะถือว่าเป็นงานที่หนักพอสมควร สำหรับประเด็นนี้แต่ละสถาบัน แต่ละมหาวิทยาลัยมีกลไกตั้งแต่การเริ่มทำงานวิจัย มีคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย ในมนุษย์ ในสัตว์ทดลอง รวมทั้งแหล่งทุนที่ให้ทุนวิจัย ที่จะมีระบบการตรวจสอบ การตีพิมพ์ผลงานจะมีคณะกรรมการบรรณาธิการ ซึ่งวารสารส่วนใหญ่ที่มีคุณภาพนั้นจะต้องมีนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิมาตรวจสอบอยู่แล้ว สำหรับเรื่องที่เกิดขึ้นถือเป็นช่องโหว่ที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะมีวารสารบางประเภทที่ไม่มีขั้นตอนที่รัดกุม จึงมีผู้ที่หาผลประโยชน์นำมาหาประโยชน์ให้ตัวเอง แต่ก็คิดว่าเป็นส่วนน้อยแต่ก็สร้างความเสียหาย ทำให้งานวิจัยนั้นขาดความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องแก้ไขเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้วงการวิชาการมากขึ้น
   “หากตรวจสอบพบว่า นักวิชาการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซื้อขายงานวิชาการ จะถือว่าเป็นการทำผิดด้านการวิจัยอย่างร้ายแรง เป็นการไม่สุจริตทางผลงานวิชาการ ซึ่งจะมีแนวทาง มีกลไก และระเบียบ จะส่งผลต่อการเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัยในที่สุด”รศ.นพ.ชาญชัย กล่าว
   ต่อมา เมื่อวันที่ 15 ม.ค.66 ได้มีการออกแถลงการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ใจความตามที่ปรากฎข่าวเผยแพร่ในสื่อสาธารณะว่าอาจมีนักวิชาการของมหาวิทยาลัยขอนแก่นซื้อผลงานวิจัยออนไลน์ผ่านเว็บไซค์ต่างประเทศอันเป็นการกระทำที่ผิดหลักวิชาการ จริยธรรม และจรรยาบรรณในการทำผลงานวิจัยหรือผลงานวิชาการ สร้างความเสียหายและความเชื่อมั่นให้แก่วงการวิซาการทั้งในระดับประเทศแลนานาชาติ นั้นมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ตระหนักและให้ความสำคัญอย่างยิ่งเกี่ยวกับการทำผลงนวิจัยหรือผลงานวิชาการของคณาจารย์และผู้ปฏิบัติงานสังกัดของมหาวิทยาลัย จักต้องยึดมั่นหลักความถูกต้องทางวิซาการ ยึดถือและปฏิบัติตามจรรยาบรรณเละจริยธรรมในการทำผลงานวิจัยหรือผลงานวิชาการอย่างเคร่งครัด
   ซึ่งกรณีที่ปรากฏตามข่าวในขณะนี้ มหาวิทยาลัยฯ
ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน และหากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า มีการกระทำที่ไม่ปฏิบัติตามหลักวิชาการหรือผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณ์ในการทำผลงานวิจัยหรือผลงานวิชาการมหาวิทยาลัยจะดำเนินการสอบสวนเพื่อลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงต่อไป
    คืบหน้าล่าสุด รศ.นพ.ชาญชัย ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่าทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะตรวจสอบผลงานวิจัยของทั้ง 3 คนที่ผิดปกติ ทั้งผลงานวิจัยที่มีมาก มากแบบก้าวกระโดด ปกติ 1 ปีจะมีแค่ 1-2 เรื่อง แต่กลับเพิ่มขึ้นมาถึง 30 – 40 เรื่อง หรือ ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ไม่ใช่เรื่อง นักวิชาการคนนั้นที่เชี่ยวชาญ หรือเป็นผลงาน ที่ข้ามศาสตร์ ทางเราจะรีบทำให้เสร็จภายใน 1 เดือน จากพันกว่าเรื่องจริงๆเราก็จะดูย้อนหลังด้วย ย้อนไปเมื่อ 3 4 ปี ก็น่าจะเป็นงานวิจัยประมาณ 6-7 พันเรื่อง แล้วเราก็จะสแกนลงมา และจะสแกนเราก็จะมีกระบวนการสอบหาข้อเท็จจริง และหากทำจริงอย่างข้อที่ว่า อันนี้ก็ถือว่าเป็นความผิดด้านวิชาการ จริยธรรมการวิจัย ในเรื่องของการเป็นนักวิชาการ อันนี้ก็เข้าข่ายผิดวินัยอย่างร้ายแรง เราต้องตั้งคณะกรรมการอีกชุดหนึ่ง ขึ้นมาเพื่อจะดูในรายละเอียดกันมากขึ้น ตัดสินว่าเราได้ผิดจริงหรือไม่
ปัจจุบันมีนักวิชาการกว่า 2,000 คน มีผลงานตีพิมพ์กว่า 1,400 เรื่อง หลังจากตรวจผลงานวิจัยย้อนหลัง 1 ปี พบความผิดปกติ 10 เรื่อง ซึ่งก็ต้องตรวจสอบรายละเอียดกันอีกครั้ง ยอมรับว่าสาเหตุที่ซื้อผลงาน วิจัยส่วนหนึ่งมาจาก การให้รางวัลการวิจัย ของมหาวิทยาลัย หลังจากนี้จะเพิ่มความเข้มงวด ในการตรวจสอบให้มากขึ้น.

   



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น