องคมนตรี รับฟังรายงานการติดตามการบริหารจัดการน้ำของลุ่มแม่น้ำชี

องคมนตรี รับฟังรายงานการติดตามการบริหารจัดการน้ำของลุ่มแม่น้ำชี


5 มิ.ย. 66. นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี ในฐานะรองประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เดินทางมาประชุม ณ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น โดยมี นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังรายงานและติดตามการบริหารจัดการน้ำในลุ่มแม่น้ำชีภายหลังจากที่ได้รับฟังรายงานสถานการณ์น้ำและความคืบหน้าโครงการพระราชดำริในลุ่มแม่น้ำชีจากกรมชลประทานและสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริณ ทำเนียบองคมนตรี เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่าขณะนั้นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มแม่น้ำชีมีปริมาณน้ำเก็บกักสูงกว่า 2,700 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ดีมาก


ในครั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานว่าประเทศไทยได้เข้าสู่สภาวะเอลนีโญ หรือสภาวะที่มีฝนน้อยกว่าเกณฑ์ปกติแล้ว โดยได้คาดการณ์ว่าตลอดฤดูฝนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกต่ำกว่าเกณฑ์ปกติประมาณร้อยละ 24
นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาลุ่มน้ำชีตอนบน ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ได้รายงานว่ามีการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงที่ผ่านมาอย่างใกล้ชิด และได้รายงานว่า ขณะนี้น้ำกักเก็บในเขื่อนขนาดใหญ่ลดลง เหลืออยู่ที่ 1,621 ล้าน ลบ.ม. โดยเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำเก็บกัก 787 ล้าน ลบ.ม. ได้มีการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในทุกสัปดาห์ โดยใช้หลักการบริหารจัดการน้ำในสถานการณ์น้ำน้อย โดยลด

ปริมาณการระบายน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่จากปกติระบาย 5 – 7 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน เหลือ 1.1-1.5 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อสำรองน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ไว้ให้เพียงพอสำหรับการ
อุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์สำหรับฤดูแล้งที่จะเริ่มต้นตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นไปเพื่อปรับแผนการใช้น้ำให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำในสถานการณ์น้ำน้อย. ที่ประชุมเห็นสมควรให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการ ดังนี้

  1. ให้ทางจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และท้องถิ่น เร่งสำรวจและฟื้นฟู หนอง บึง และแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งจัดทำฝายเพื่อกักเก็บน้ำสำหรับชุมชน และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมชลประทาน ควรติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำและการพยากรณ์อากาศของกรม
    อุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และปรับแผนการใช้น้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำน้อย

  2. หน่วยงานด้านความมั่นคง จังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมความพร้อมและแผนเพื่อรองรับกรณีเกิดสถานการณ์ภัยแล้งเนื่องจากฝนทิ้งช่วง ให้มีน้ำเพียงพอสำหรับใช้ในการอุปโภคและบริโภคสำหรับประชาชน โดยเฉพาะ โรงเรียน โรงพยาบาล และความจำเป็นด้านสาธารณประโยชน์ เป็นหลัก

 



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น