ข้าวเม่า บ้านเชียง อุดรธานี

บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ถือได้ว่าเป็นหมู่บ้านแห่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่บอกเล่าถึงอารยธรรมของผู้คนในดินแดนประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากว่า 5,600 ปีมาแล้ว

ชาวบ้านเชียงในปัจจุบันเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากเมืองพวน จากแขวงเชียงขวาง แห่งราชอาณาจักรลาว อพยพข้ามแม่น้ำโขงมา ตัดสินใจลงหลักปักฐานกันตรงนี้เมื่อราวปี พ.ศ. 2360 ซึ่งในตอนนั้นเรียกว่า “ดงแพง” ทับซ้อนบนผืนดินเดียวกับที่เจ้าของวัฒนธรรมบ้านเชียงเคยอยู่เมื่อหลายพันปีก่อน  ชาวไทพวน ทุกคนล้วนมีความมุ่งมั่นที่จะสืบสานและนำเสนออารยะของคนบ้านเชียงในยุคก่อนประวัติศาสตร์ และเอกลักษณ์ของชาวไทยพวนรวมทั้งวัฒนธรรมในพื้นที่อิสาน ผ่านวิถีชีวิตและงานศิลปะ

บ้านเชียง นอกจากภาพแหล่งโบราณคดีหลุมขุดค้นวัดโพธิ์ศรีใน และบ้านไทพวนแล้ว อีกภาพหนึ่งที่ผู้คนทั่วไปจะคุ้นตาหรือนึกถึงก็คือ หม้อดินเผาเขียนสีลายเชือกทาบ ปัจจุบันชาวบ้านได้นำมรดกชิ้นเอก หม้อดินเผาเขียนสีของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ นำมาต่อยอดสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาในรูปภาชนะต่างๆ ไปจนถึงสินค้าที่ระลึก สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเชียง

ชาวไทพวน อพยพมาจากประเทศลาว มาอยู่บ้านเชียง  อำเภอหนองหาน อุดรธานี จะนิยมทำข้าวเม่า จะทำตามบรรพบุรุษ สืบทอดกันมา   การทำข้าวเม่าจะนำรวง ที่ยังไม่แก่ ข้าวที่มีน้ำนมข้าว มาสีเพื่อเทาะเมล็ดออกจากรวง แล้วนำเม็ดข้าวไปแช่น้ำ เพื่อเลือกเม็ดข้าวที่เต็มเม็ดเพื่อนำมามาคั่ว  ใช้เวลาคั่วประมาณ 2 ชั่วโมง   จากนั้นจะนำไปตำโดยใช้สากมอง ปัจจุบันชาวบ้านนำเครื่องยนต์การเกษตรมาปรับปรุง ทำงานร่วมกับสาก เพื่อทั่นแรงได้เป็นอย่างดี  เมื่อตำจนละเอียดแล้ว  ก็เอาไปฝัดเพื่อเอาเปลือกข้าวออก  ทำอย่างนี้ประมาณ 3 รอบ  เพื่อให้ได้ข้าวเม่า ที่อ่อนนุ่ม  หอม ซึ่งกรรมวิธีผลิตข้าวเม่าแบบโบราณ อย่างนี้ เลยทำให้ข้าวเม่า บ้านเชียง มีความอร่อย  อ่อน นุ่ม หอม หวาน เป็นที่นิยมของผู้คนทั่วไป  สำหรับข้าวเม่าบ้านเชียง จะหาซื้อรับประทานได้ เฉพาะช่วงเดือน สิงหาคม ถึงเดือน พฤศจิกายน เท่านั้น

สัมภาษณ์ นาง มอญเมือง  จันดาดาล  ชาวไทพวน บ้านเชียง จ.อุดรธานี



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น