ขอนแก่น พบ 2 คลัสเตอร์ใหญ่ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน

ขอนแก่น พบ 2 คลัสเตอร์ใหญ่ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน

จากกรณีที่การแชร์กันในแอพพลิเคชั่น tiktok ที่เป็นคลิปของพยาบาลสองคนนั่งกอดกันร้องไห้ในโรงพยาบาล และรายละเอียดคลิประบุว่า “เมื่อผลสวอปออก ติดโควิดยกทีม โคฮอท วอร์ด พวกเราได้พักสักทีเราทำหน้าที่ของเราเต็มที่ที่สุดแล้วขอให้พวกเราปลอดภัยทุกๆคน” ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเป็นคลิปของบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลหนองสองห้อง อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น

นายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า มีรายงานการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลทั้งของโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชนในจังหวัดขอนแก่น พบว่าโรงพยาบาลหนองสองห้องมีพยาบาลติดเชื้อ 7 ราย โดยจากการที่มีการตรวจสอบเมื่อวันที่ 30 ก.ค.64 มีพยาบาลที่ได้ดูแลผู้ป่วยในที่กักตัวไว้ 1 รายที่มีอาการเจ็บคอเมื่อวันที่ 19 ก.ค.64 จึงได้มีการส่งตรวจวันที่ 25 ก.ค. ผลออกมาเป็นบวก จึงได้มีการตรวจเชิงรุกผู้สัมผัสใกล้ชิดส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่พยาบาลที่ปฏิบัติงานร่วมกันทั้งหมด 19 คน ซึ่งผลตรวจรอบแรกออกมาเป็นลบ จึงให้เจ้าหน้าที่ทั้ง 19 ราย กักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน จากนั้นจึงจะตรวจซ้ำอีกรอบ โดยขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อและสัมผัสใกล้ชิด อยู่ในการดูแลตามาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนคลิปที่มีการนำเสนอ ที่เห็นว่าพยาบาลนั่งกอดกันร้องไห้ เป็นความเสียใจที่โอกาสของการทำหน้าที่รักษาผู้ป่วยนั้นได้หายไปเพราะตนเองมีเชื้อและต้องทำการรักษาตัว ส่วนผู้ป่วยรายใหม่ที่ต้องรักษาที่ รพ.หนองสองห้อง ได้เคลื่อนย้ายไปที่ รพ.สนามที่ค่ายเปรมฯ ทั้งหมด 33 คน นำส่งเรียบร้อยและยังไม่มีอาการ ถือเป็นกลุ่มสีเขียวที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

ส่วนคลัสเตอร์ใน รพ.เอกชน ในขอนแก่นที่มีข่าวติดโควิด ได้รับแจ้งจากทีมควบคุมโรค ของ รพ.กรุงเทพ ขอนแก่น ติดเชื้อโควิด-19 มาจากการดูแลผู้ป่วยที่มารักษาที่โรงพยาบาลมีการตรวจเจ้าหน้าที่ 120 คน พบผลเป็นบวก 15 คน เป็นแพทย์ 3 คน นอกนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในโรงพยาบาล โดยขณะนี้มีการขอกำลังเสริมจากโรงพยาบาลในเครือมาให้บริการเพิ่มเติม

พร้อมกันนี้ นายแพทย์ สสจ.ขอนแก่น ได้มีข้อสั่งการให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัด ดำเนินการวางแผนเชิงปฏิบัติการ แบ่งเป็น3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจในรอบคัดกรองทุก 14 วัน กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มเสี่ยงปานกลาง จะต้องมีการตรวจรอบ 28 วัน และกลุ่มเสี่ยงต่ำเป็นเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้มีการสัมผัสคนไข้ จะมีการตรวจทุก 3 เดือน



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น