คณะแพทย์ มข. เปิดตัว“ นวัตกรรมทางวินิจฉัยตรวจจับกระดูกสะโพกหักจากภาพเอกซเรย์

คณะแพทย์ มข. เปิดตัว“ นวัตกรรมทางวินิจฉัยตรวจจับกระดูกสะโพกหักจากภาพเอกซเรย์

มหาวิทยาลัยขอนแก่น โชว์ความสำเร็จนวัตกรรมทางการแพทย์ นำไปใช้ประโยชน์ในการช่วยวินิจฉัยโรค “ระบบปัญญาประดิษฐ์ตรวจจับกระดูกสะโพกหักจากภาพเอกซเรย์” ซึ่งเกิดจากการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างทีมผู้วิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่นรายงานว่า ที่ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานแถลงข่าว ความสำเร็จนวัตกรรมทางการแพทย์ นำไปใช้ประโยชน์ในการช่วยวินิจฉัยโรค “ระบบปัญญาประดิษฐ์ตรวจจับกระดูกสะโพกหักจากภาพเอกซเรย์” ซึ่งเกิดจากการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างทีมผู้วิจัยจากคณะแพทยศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น


รศ.นพ.ภัทรพงษ์ มกรเวส คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ในฐานะผู้นำผลงานนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พร้อมด้วยทีมนักวิจัยร่วมแถลงข่าว อีกทั้งภายในงานยังมีผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารโรงพยาบาลในจังหวัดขอนแก่น และแขกผู้มีเกียรติร่วมแสดงความยินดี
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนและผลักดันผลงานวิจัย และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ จนสามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และสังคม ผลงานนวัตกรรมชิ้นนี้ ถือเป็นความสำเร็จ ในการพัฒนานวัตกรรมด้าน Healthcare AI ที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย โดย “ปัญญาประดิษฐ์ตรวจจับกระดูกสะโพกหักจากภาพเอกซเรย์” นี้ สามารถช่วยแพทย์ ในการวินิจฉัยโรคกระดูกสะโพกหักได้ได้อย่างประสิทธิภาพและแม่นยำ เพิ่มความรวดเร็วในการส่งต่อผู้ป่วยตามมาตรฐานของระบบบริการ
มหาวิทยาลัยรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ทีมนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ นำโดย
ด้าน ผศ.พญ.พริญญ์ ถวิลไพร และทีมนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ นำโดย รศ.ภูริพงษ์ สุทธิโสภาพันธ์ ได้ร่วมกันพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ชิ้นนี้ ความทุ่มเทและความรู้ความเชี่ยวชาญของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ได้มีส่วนในการพัฒนานวัตกรรม ด้าน AI in health care ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับพัฒนาประเทศชาติต่อไป”
ส่วน รศ.นพ.ภัทรพงษ์ มกรเวส คณบดีคณะแพทยศาสตร์ กล่าวว่า “คณะแพทยศาสตร์ ได้นำร่องในการนำนวัตกรรมระบบปัญญาประดิษฐ์นี้ มาใช้ในโรงพยาบาลศรีนครินทร์แล้ว เมื่อสงสัยว่าคนไข้มีภาวะกระดูกสะโพกหักหรือไม่ เราสามารถใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์ภาพเอกซเรย์ได้ทันที ซึ่งช่วยให้คุณหมอทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อทำให้ผู้ป่วยทุกคนได้รับการรักษาที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”


ต่อด้วย อ.นพ.ณัฐพล ถวิลไพร กล่าวว่า “จากอัตราการวินิจฉัยโรคผิดพลาดทั่วโลก อยู่ที่ 15-30% หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาจะนำสู่ภาวะทุพพลภาพ ความพิการ และอาจถึงขั้นเสียชีวิต นำนวัตกรรมระบบปัญญาประดิษฐ์นี้มีความแม่นยำในการวินิจฉัยสูงถึง 95% มาก เท่าๆ กับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางศัลยกรรมกระดูกและข้อ AI ตัวนี้จะประหนึ่งเป็นที่ปรึกษาให้กับแพทย์ทั่วไป เราได้เริ่มนำนวัตกรรมระบบปัญญาประดิษฐ์มาใช้ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์และทาง website ให้โรงพยาบาลลูกข่ายในเครือข่าย พบว่าได้รับผลตอบรับที่ดี ทั้งในแง่ของการช่วยวินิจฉัยและเพิ่มความมั่นใจให้กับทีมแพทย์เป็นอย่างมาก”
ผศ.พญ.พริญญ์ ถวิลไพร กล่าวว่า “ขอขอบพระคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คุณหมอและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน และผู้ที่มีสำคัญที่สุด คือ ผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ เนื่องจากการพัฒนาผลงานนวัตกรรม “ปัญญาประดิษฐ์ตรวจจับกระดูกสะโพกหักจากภาพเอกซเรย์” นี้ เป็นนวัตกรรมการดูแลผู้ป่วยที่สร้างมาจากข้อมูลของผู้ป่วยเอง โดยทีมนักวิจัยของคณะแพทยศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ประสานความรู้ความเชี่ยวชาญดำเนินงานแบบบูรณาการข้ามศาสตร์ ถือเป็นความสำเร็จของทีมนักวิจัยและของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมดังกล่าวสู่การใช้ประโยชน์ และเรายังคงมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการช่วยวินิจฉัยโรคอื่น ๆ ต่อไป ”
ตบท้ายที่ รศ.ภูริพงษ์ สุทธิโสภาพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ในด้านวิศวกรรมเรานำ Data ที่ได้จากทีมแพทย์ไปประมวลผล และปรับแต่งผ่านกระบวนการต่างๆ สุดท้ายเราก็ได้โมเดลปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถตรวจจับกระดูกสะโพกหักได้อย่างแม่นยำ ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์สำหรับตรวจจับกระดูกสะโพกหัก พร้อมใช้งานแล้ว เราได้นำไปติดตั้งในระบบโรงพยาบาลและพัฒนาเว็บเพจสำหรับใช้งาน ในการตรวจจับกระดูกสะโพกหัก ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคกระดูกสะโพกหักได้อย่างสะดวกรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น”
ทั้งนี้ AI ไม่ได้มาแทนที่แพทย์ แต่เป็นเครื่องมือช่วยให้แพทย์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และนวัตกรรม “ปัญญาประดิษฐ์ตรวจจับกระดูกสะโพกหักจากภาพเอกซเรย์” นี้นับเป็นจุดเริ่มต้น ในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการยกระดับระบบการรักษาพยาบาล เพื่อรองรับการให้บริการทางด้านสุขภาพของคนทุกช่วงวัย ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศชาติอย่างต่อเนื่องต่อไป.



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น