คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ’ วางกำหนดการ คัดเลือก ‘เลขาธิการ’ พร้อมสรรหา ‘คสช.’ ชุดใหม่ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะร่วมกับรัฐบาลใหม่

 ‘คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ’ วางกำหนดการ

คัดเลือก ‘เลขาธิการ’ พร้อมสรรหา ‘คสช.’ ชุดใหม่

เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะร่วมกับรัฐบาลใหม่

ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รับทราบกำหนดการคัดเลือก “เลขาธิการ คสช.” คนใหม่ แทน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ ที่จะครบวาระในวันที่ 19 ก.ย. นี้  พร้อมเริ่มกระบวนการสรรหา “คสช.” ชุดใหม่ ใน 3 กลุ่ม “ผู้แทนท้องถิ่น-ผู้ทรงคุณวุฒิ-องค์กรภาคเอกชน”  สานต่อภารกิจขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพร่วมกับรัฐบาลใหม่
ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2566 ซึ่งมี    นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คบ.) เป็นประธานแทน นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะประธาน คสช. และที่ประชุมมีมติรับทราบกำหนดการคัดเลือกเลขาธิการ คสช. คนใหม่ แทน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการ คสช. คนปัจจุบันที่จะครบวาระในวันที่ 19 ก.ย. 2566 พร้อมทั้งรับทราบกำหนดการสรรหา คสช. ชุดใหม่ เพื่อทำหน้าที่แทน คสช. ชุดปัจจุบัน ที่จะสิ้นสุดวาระลงในวันที่ 6 ธ.ค. 2566
สำหรับคุณสมบัติของ เลขาธิการ คสช. จะต้องเคยเป็นผู้บริหารของหน่วยงานรัฐหรือองค์กรเอกชน และมีประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสุขภาพและสังคม มีผลงานที่ประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้ทำหน้าที่ในการบริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ตามที่ คสช. หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมาย โดยกำหนดให้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
(red arrow right)นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คบ.) เปิดเผยว่า ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ได้กำหนดให้ คบ. ซึ่ง คสช. เป็นผู้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ จำนวน ๘ คน มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการคัดเลือกเลขาธิการ คสช. โดยล่าสุดที่ประชุม คบ. ได้กำหนดการคัดเลือกเลขาธิการ คสช. คนใหม่ ซึ่งจะเริ่มประชาสัมพันธ์รับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. เป็นต้นไป และเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 3-14 ก.ค. 2566
“หลังเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้ารับการคัดเลือกแล้ว ทาง คบ. ทั้ง ๘ คน จะพิจารณาคุณสมบัติผู้สมัคร และให้ผู้สมัครแต่ละคนได้แสดงวิสัยทัศน์ เสนอแผนดำเนินการ และคัดเลือกให้เหลือผู้ที่เหมาะสมที่สุด ในช่วงวันที่ 1-31 ส.ค. 2566 ก่อนที่จะเสนอ คสช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ในวันที่ 11 ก.ย. 2566 และเสนอนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นเลขาธิการฯ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มปฏิบัติงานได้ประมาณวันที่ 1 ต.ค. 2566” นพ.วิชัย กล่าว
ขณะที่กลไก คสช. ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี โดยเมื่อครบวาระ ให้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการแทนก่อนวันครบวาระไม่น้อยกว่า 90 วัน ซึ่งจะมีการสรรหาใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเลือกกันเองจำนวน 4 คน 2. ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ซึ่งต้องไม่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข โดยเลือกกันเองจำนวน 6 คน และ 3. ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ไม่ว่าจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่ ซึ่งเลือกกันเองจำนวน 13 คน
นายธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล ประธานคณะกรรมการสรรหากรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่ คสช. แต่งตั้ง กล่าวว่า ทางคณะกรรมการสรรหาฯ ได้ร่วมกันพิจารณาและเห็นชอบให้ออกประกาศ กำหนดเวลา และขั้นตอนการสมัครเข้ารับเลือกเป็นกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2566 ของกรรมการทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าว รวมถึงแผนการประชาสัมพันธ์การรับสมัครเข้ารับเลือกเป็นกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2566 ซึ่งจะมีการเผยแพร่ประกาศรับสมัครตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. นี้ เป็นต้นไป พร้อมเปิดรับสมัครในระหว่างวันที่ 1-30 มิ.ย. 2566 ในส่วนกำหนดการของกลุ่มต่างๆ ได้แก่
1. กลุ่มผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นายกเทศมนตรี หรือนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะมีการประกาศรายชื่อผู้สมัครที่ผ่านคุณสมบัติเพื่อเลือกกันเองในวันที่ 20 ก.ค. 2566 ก่อนเข้าสู่กระบวนการประชุมทางไกลเพื่อเลือกกันเองผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในวันที่ 24 ก.ค. 2566 และจะประกาศผลในวันที่ 1 ส.ค. 2566
2. กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ซึ่งมีการแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มบริหาร นโยบายสาธารณะ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ 2) กลุ่มธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ 3) กลุ่มการศึกษา การจัดการความรู้ 4) กลุ่มสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ 5) กลุ่มพัฒนาประชาชนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ 6) กลุ่มการพัฒนาสังคม ชุมชนท้องถิ่น ) จะมีการประกาศรายชื่อผู้สมัครที่ผ่านคุณสมบัติเพื่อเลือกกันเองในวันที่ 20 ก.ค. 2566 ก่อนเข้าสู่กระบวนการประชุมทางไกลเพื่อเลือกกันเองผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในวันที่ 27 ก.ค. 2566 และจะประกาศผลในวันที่ 1 ส.ค. 2566
3. กลุ่มผู้แทนองค์กรภาคเอกชน ประกอบด้วย องค์กรที่มีการดำเนินงานไม่แสวงหากำไร ไม่อยู่ภายใต้หน่วยงานของรัฐ แบ่งตามลักษณะกิจกรรมที่ดำเนินงานเกี่ยวกับสุขภาพ และมีประสบการณ์ด้านการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในพื้นที่ ได้แก่ 1) ด้านการแพทย์ หรือสาธารณสุข 2) ด้านเศรษฐกิจ หรือการศึกษา 3) ด้านสังคม หรือสิ่งแวดล้อม 4) ด้านกลุ่มประชาชนเฉพาะ 5) ด้านการสื่อสาร หรือนโยบายสาธารณะอื่นๆ ) จะมีการประกาศรายชื่อผู้สมัครที่ผ่านคุณสมบัติเพื่อเลือกกันเองในวันที่ 17 ก.ค. 2566 ก่อนเข้าสู่กระบวนการประชุมทางไกลเพื่อเลือกกันเองผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในระหว่างวันที่ 1-25 ส.ค. 2566 และจะประกาศผลในวันที่ 29 ส.ค. 2566
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า คสช. นับเป็นกลไกการดำเนินงานระดับชาติ ที่มีองค์ประกอบมาจาก 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคการเมือง/ราชการ ภาควิชาการ/วิชาชีพ และภาคประชาชน/สังคม พร้อมมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน เพื่อมีบทบาทหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย และมาตรการที่คำนึงถึงสุขภาวะของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ
“ในทางหนึ่ง คสช. เปรียบเสมือนกับ ครม. ด้านสุขภาพ เป็นกลไกสำคัญของประเทศที่ช่วยเสริมให้การทำงานของรัฐบาล หน่วยงาน องค์กรและภาคีต่างๆ เดินไปข้างหน้าโดยคำนึงถึงการพัฒนาสุขภาวะทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย ใจ สังคม และปัญญา พร้อมยังทำหน้าที่เชื่อมโยงให้ทุกภาคส่วนและทุกฝ่ายในสังคม เข้ามาทำงานเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพร่วมกัน” นพ.ประทีป กล่าว
นพ.ประทีป กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 16 ปีของการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 คสช. ได้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ไปแล้วมากมาย เช่น กระบวนการสมัชชาสุขภาพ การจัดทำธรรมนูญสุขภาพ ฯลฯ จึงอยากเชิญชวนให้ผู้ที่มีความสามารถมาร่วมกันสมัครเข้ารับเลือกเป็น คสช. ในครั้งนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนระบบสุขภาพไทย สู่การสร้างสังคมสุขภาวะ ร่วมกับรัฐบาลใหม่ต่อไป
รายละเอียดเพิ่มเติม:
กลุ่มงานสื่อสารสังคม โทร.02-832-9141



เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

แสดงความคิดเห็น